วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

วีรกรรม F-5 ในสมรภูมิช่องบก

ภาพของเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E Tiger II ฝูงบิน 403 กองบิน 4 หลังจากทำการลงฉุกเฉินที่กองบิน 21 อุบลราชธานี เนื่องจากถูกยิงด้วยจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่าแบบ SA-7 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2530 ขณะเข้าปฏิบัติภารกิจสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิดระหว่างการรบในสมรภูมิช่องบก
โดยในวันนั้น ท่าน น.ต.สุรศักดิ์ บุญเปรมปรี (ยศในขณะนั้น) ได้รับคำสั่งให้เป็นหัวหน้าหมู่ นำเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E จำนวน 2 เครื่อง เข้าปฏิบัติภารกิจโจมตีพื้นที่ฐานที่มั่นสนับสนุนอาวุธของกองกำลังทหารเวียดนาม บริเวณอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในขณะนั้นกำลังเกิดการรบระหว่างกองกำลังฝ่ายไทยกับกองกำลังต่างชาติ โดยท่านสุรศักดิ์ได้นำหมู่บินเข้าทำการดำโจมตีเป้าหมายด้วยปืนใหญ่อากาศ ซึ่งขณะทำการโจมตี ก็ได้ถูกต่อต้านจากภาคพื้นอย่างหนัก จนทำให้เครื่องของท่านซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่ถูกยิงด้วยจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่าแบบ SA-7 เข้าที่เครื่องยนต์ขวา จนทำให้ต้องขอถอนตัวออกจากภารกิจและนำเครื่องกลับไปลงได้อย่างปลอดภัย ในขณะที่เครื่องหมายเลข 2 ซึ่งมีท่าน น.ต.เจริญ บำรุงบุญ เป็นนักบิน ยังคงเข้าทำการโจมตีเป้าหมายต่อไป ซึ่งผลจากการทำภารกิจในครั้งนี้ ทำให้เป้าหมายได้รับความเสียหายอย่างหนัก คลังอาวุธและกระสุนถูกทำลาย ต่อมาพื้นที่จึงได้ถูกยึดคืนโดยกองกำลังฝ่ายไทย
ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2531 เครื่องบินขับไล่แบบ F-5E ของท่าน น.ต.สุรศักดิ์ ก็ได้ถูกยิงอีกครั้งหนึ่งในสมรภูมิร่มเกล้า ซึ่งในครั้งนี้ ท่านได้ทำการสละอากาศยานออกมาเนื่องจากเครื่องได้รับความเสียหายอย่างหนัก ก่อนจะถูกช่วยเหลือโดยกองกำลังฝ่ายไทยครับ




เครื่องบินขับไล่ F-5E หมายเลข 91686 ปัจจุบันคือเครื่องหมายเลข 21123 ฝูงบิน 211 กองบิน 21 ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

Sniper Pod อีกหนึ่งเขี้ยวเล็บใหม่ของเหยี่ยวประจัญบานแห่งกองทัพอากาศ

Sniper Pod อีกหนึ่งเขี้ยวเล็บใหม่ของเหยี่ยวประจัญบานแห่งกองทัพอากาศ

Sniper Pod หรือ AN/AAQ-33 เป็นกระเปาะชี้เป้าขั้นก้าวหน้าที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท Lockheed Martin สำหรับทดแทนกระเปาะชี้เป้ารุ่นเก่าอย่าง LANTIRN มีประสิทธิภาพสูงในการปฏิบัติการทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มีขนาดเบาและได้รับการออกแบบให้ส่วนหัวเป็นแบบรูปลิ่ม ซึ่งจะช่วยทำให้ลดการตรวจจับจากเรดาร์และมีคุณสมบัติทางอากาศพลศาสตร์ในย่านความเร็วเหนือเสียงที่ดีกว่า โดย Sniper Pod สามารถนำมาใช้ได้ทั้งในภารกิจการชี้เป้าให้กับระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์และ GPS รวมถึงภารกิจถ่ายภาพในการลาดตระเวนและตรวจการณ์ ซึ่งปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่า Sniper Pod เป็นกระเปาะชี้เป้าที่มีขีดความสามารถสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ถูกนำมาใช้กับเครื่องบินรบสมรรถนะสูงหลายๆ แบบ อาทิ F-15E, F-16, B-1B, A-10 และหลายประเทศทั่วโลกได้จัดหากระเปาะชี้เป้ารุ่นนี้เข้าประจำการ ซึ่งในส่วนของกองทัพอากาศไทย เป็นกองทัพอากาศชาติที่ 19 ที่จัดหา และจะนำ Sniper Pod มาใช้งานกับ F-16A/B eMLU ของฝูงบิน 403 กองบิน 4

วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

JHMCS เขี้ยวเล็บใหม่ของเหยี่ยวประจัญบานแห่งกองทัพอากาศ

JHMCS เขี้ยวเล็บใหม่ของเหยี่ยวประจัญบานแห่งกองทัพอากาศ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วถึงโครงการ Mid Life Update ของเครื่องบินขับไล่แบบ F-16A/B Fighting Falcon แห่งฝูงบินขับไล่ทางยุทธวิธี 403 กองบิน 4 ซึ่งเป็นโครงการที่จะทำให้ F-16 มีขีดความสามารถและมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยทำการปรับปรุงหลายๆ รายการ อาทิ การติดตั้งเรดาร์แบบ AN/APG-69(V)9, การปรับปรุงระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์, การติดตั้งระบบ Data Link รวมถึงการติดตั้งระบบ JHMCS กับหมวกบิน เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการรบให้สูงยิ่งขึ้น

JHMCS หรือ Joint Helmet Mounted Cueing System เป็นระบบที่ใช้ติดตั้งกับหมวกบิน เพื่อทำการแสดงผลต่างๆ ขึ้นบนหมวกบิน อาทิ ความเร็ว ความสูง แรงจี ฯลฯ (เรียกได้ว่าบน HUD แสดงอะไร ตัวระบบ JHMCS ก็จะนำสิ่งเหล่านั้นมาโชว์บนหมวกบิน) รวมถึงมีศูนย์เล็งสำหรับใช้จรวดนำวิถีสมัยใหม่อย่าง AIM-9X หรือ IRIS-T ซึ่งระบบนี้ จะทำให้นักบินมีความตระหนักรู้ในสถานการณ์มากขึ้นพร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการรบที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน ระบบ JHMCS นับว่าเป็นระบบหมวกบินที่ดีที่สุดแบบหนึ่งของโลก มีใช้ในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา กรีซ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอีกหลายๆ ประเทศ โดยทำการติดตั้งกับ บ.ขับไล่สมรรถนะสูง เช่น F-15, F-16, F/A-18 และ F-22

ในส่วนของกองทัพอากาศไทย จะนำระบบ JHMCS มาใช้กับเครื่องบินขับไล่แบบ F-16AM/BM ร่วมกับจรวดนำวิถีพิสัยใกล้แบบ IRIS-T ซึ่งเป็นจรวดนำวิถีที่มีสมรรถนะสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก