วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

อิสราเอล ประเทศเล็กๆ ที่มีกำลังทางอากาศเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

อิสราเอล ประเทศเล็กๆ ที่มีกำลังทางอากาศเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
หากว่ามีคำถามว่า นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสงบลง นักบินรบของประเทศไหนนับได้ว่าเป็นสุดยอดของการรบทางอากาศยุคใหม่ที่มีแต่เครื่องบินเจ็ตเช่นนี้ เชื่อได้ว่า หนึ่งในหลายๆ คำตอบที่ได้ จะต้องมีนักบินของกองทัพอากาศ "อิสราเอล" เป็นแน่ แล้วทำไมนักบินของประเทศเล็กๆ นี้ ถึงได้ติดโผเสืออากาศระดับโลกได้ เป็นไปได้อย่างไร ลองมาฟังกันดูครับ
ก่อนอื่น ก่อนที่จะมาพูดถึงสาเหตุที่ทำให้นักบินรบของอิสราเอลหรือที่หลายท่านคุ้นเคยกับคำว่า ยิว นั้นก้าวสู่การเป็นเสืออากาศระดับโลก เราคงต้องมาดูประวัติของประเทศนี้กับคร่าวๆ สักหน่อยครับ ประเทศอิสราเอลก่อตั้งขึ้นในปี 1948 ในบริเวณคาบสมุทรเมดิเตอเรเนียนที่รายล้อมไปด้วยประเทศอาหรับต่างๆ อ่านเพียงเท่านี้ คิดว่าหลายๆ น่าจะทราบแล้วว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ประเทศเล็กๆ นี้สามารถผลิตสุดยอดเสืออากาศได้คืออะไร
โดยสงครามครั้งแรกระหว่างอิสราเอลกับอาหรับเกิดขึ้นภายในปี 1948 ปีเดียวกับที่อิสราเอลก่อตั้งเป็นประเทศ (ถ้าจำไม่ผิดสงครามเริ่ม หลังจากตั้งประเทศได้ 1 วันเท่านั้น) โดยชาติอาหรับ 4 ชาติ ได้แก่ อิรัก ซีเรีย อียิปต์ และจอร์แดน ซึ่งผลจากการรบกันเกือบหนึ่งปีนั้น อิสราเอลก็เป็นผู้คว้าชัยชนะมาไว้ได้ถึงแม้ว่าจะเป็นรองกว่าในแทบทุกด้าน
แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องราวการรบระหว่างยิวและชาติอาหรับก็ยังไม่จบลงซะทีเดียว ยังคงมีอีกหลายๆ สงครามตามมา เช่น วิกฤตการณ์คลองสุเอซในปี 1956 สงคราม 6 วันในปี 1967 สงครามยมคิปปูร์ในปี 1973 และอีกหลายๆ เหตุการณ์ ซึ่งเสืออากาศของอิสราเอลก็ได้ฝากฝีมือไว้ในทุกสมรภูมิ ด้วยการสอยเครื่องบินของข้าศึกตกเป็นว่าเล่น นอกจากนี้ก็ยังมีปฏิบัติการอื่นๆ ที่แสดงถึงฝีมือของเสืออากาศชาวยิวให้เห็นอีก เช่น ปฏิบัติการโอเปร่า (รู้จักกันในชื่อ ปฏิบัติการ บาบิโลน) ที่เครื่องบินรบของอิสราเอลเข้าไปทิ้งระเบิดเตาปฏิกรนิวเคลียร์ในอิรักโดยปราศจากการสูญเสีย หรือการชิงตัวประกันที่สนามบินเอนเทบเบ้ ซึ่งผลงานเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เสืออากาศชาวยิวนั้นมีฝีมือขนาดไหน
ซึ่งนอกจากประสบการณ์ในการรบทางอากาศแล้ว อิสราเอลก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีขีดความสามารถในด้านการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์อันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะในด้านอากาศยาน เห็นได้ชัดจากการที่อิสราเอลสามารถผลิตอาวุธนำวิถีติดตั้งกับอากาศยาน ระบบ Avionics ต่างๆ โดยใช้ประสบการณ์ของนักบินรบมามีส่วนในการพัฒนา ทำให้ระบบต่างๆ ของอิสราเอลนั้นมีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง เช่น จรวดอากาศสู่อากาศตระกูล Python ระบบตรวจจับต่างๆ รวมถึงการรับปรับปรุงอากาศยานรบของชาติอื่นให้มีความทันสมัย
โดยปัจจุบันนั้น กองทัพอากาศอิสราเอลเป็นกองทัพอากาศที่ประจำการด้วยเครื่องบินขับไล่ตระกูล F-16 Fighting Falcon มากเป็นอันดับสองรองจากกองทัพสหรัฐ และกำลังทำการสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ F-35I Lightning II จำนวน 33 เครื่อง


เครื่องบินขับไล่/โจมตีแบบ F-15I Ra'am และเครื่องบินขับไล่แบบ F-16I Sufa กำลังรบหลักของกองทัพอากาศอิสราเอลในปัจจุบัน

จรวดนำวิถี ถูกนำมาใช้ในสงครามทางอากาศครั้งแรกเมื่อใด??

จรวดนำวิถี ถูกนำมาใช้ในสงครามทางอากาศครั้งแรกเมื่อใด??
เป็นคำถามหนึ่งที่ถูกถามเข้ามาครับ ว่าเจ้าจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศที่ปัจจุบันกลายมาเป็นเขี้ยวเล็บหลักของเครื่องบินขับไล่นั้น ถูกนำมาใช้ครั้งแรกตอนไหนและจรวดแบบใดเป็นจรวดแบบแรกที่สามารถสังหารข้าศึกในอากาศได้ ใช่ในสงครามเวียดนามหรือไม่ วันนี้แอดมินจะมาเฉลยให้ฟังกันครับ
ถ้าพูดถึงการใช้จรวดนำวิถีในการสังหารข้าศึกกลางอากาศ คิดว่าหลายๆ ท่านน่าจะนึกถึงยุทธเวหาเหนือผืนป่าของเวียดนามเป็นแน่ สมรภูมิที่กองทัพสหรัฐมั่นใจในขีดความสามารถของจรวดนำวิถีของตนมากเสียจนถอดปืนใหญ่อากาศที่เป็นเขี้ยวเล็บหลักของอากาศยานรบมาช้านานออกจาก เครื่องบินขับไล่แบบ F-4 Phantom II ที่เป็นเครื่องบินขับไล่หลักในขณะนั้น ก่อนจะพบผลลัพธ์ที่ทำเอาต้องรีบนำปืนใหญ่อากาศกลับมาติดตั้งให้กับ บ.ขับไล่แทบไม่ทัน เพราะฉะนั้น สงครามเวียดนามน่าจะเป็นสมรภูมิเวหาแรกที่มีการนำจรวดนำวิถีมาใช้ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นครับ
โดยยุทธเวหาครั้งแรกที่มีการนำจรวดนำวิถีมาใช้นั้น อยู่ในปี 1958 ครับ ระหว่างที่เกิดวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวัน ระหว่างประเทศไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ โดยพระเอกของเราในคราวนี้ไม่ใช่ใครอื่นครับ นั่นก็คือเครื่องบินขับไล่แบบ F-86F Sabre เจ้าเก่าจากสมรภูมิสงครามเกาหลีนั่นเอง แต่คู่ปรับคราวนี้กลับไม่ใช่รายเดิม แต่กลับเปลี่ยนไปเป็นเจ้า MiG-17 Fresco ซึ่งสมรรถนะเหนือกว่า F-86 ในทุกด้าน แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพเรือสหรัฐ ภายใต้ชื่อปฏิบัติการ Operation Black Magic ก็ทำให้ F-86F ของกองทัพอากาศไต้หวันกลายเป็นศัตรูที่น่ากลัวของ MiG-17 ไปในทันที โดยกองทัพเรือสหรัฐและทีมงานของบริษัท North American Aviation ได้ทำการปรับปรุงให้ F-86F ของกองทัพอากาศไต้หวัน มีขีดความสามารถในการใช้จรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศแบบ AIM-9B Sidewinder โดยเครื่อง F-86F พร้อมทั้งจรวด Sidewinder ได้เข้าทำการรบครั้งแรกในวันที่ 24 ก.ย. 1958 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรก ที่มีการใช้จรวดนำวิธีในการรบทางอากาศ
โดยในการรบครั้งนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ที่เครื่อง F-86F เครื่องหนึ่ง ทำการยิงจรวด AIM-9B Sidewinder เข้าใส่เครื่องมิกของจีน จรวดพุ่งเข้าใส่เครื่องมิกอย่างจัง แต่ผลปรากฏว่าไม่มีการระเบิดเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ทางสหภาพโซเวียตได้จรวดแบบ AIM-9 ไป และสามารถพัฒนาออกมาเป็นจรวดนำวิถีแบบ AA-2 Atoll ได้

เครื่องบินขับไล่ F-86F Sabre กองทัพอากาศไต้หวัน ทำการติดตั้งจรวดอากาศสู่อากาศแบบ AIM-9B Sidewinder

วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558

เทคโนโลยี Stealth เครื่องบินล่องหนที่ไม่ล่องหน

เทคโนโลยี Stealth เครื่องบินล่องหนที่ไม่ล่องหน

เห็นว่าหลายๆ ท่านยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเจ้าเทคโนโลยี Stealth ที่ใช้ในเครื่องบินรบหลายๆ แบบในปัจจุบัน ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เครื่องบินรบนั้น ล่องหนหายไปเลย ไม่สามารถถูกตรวจจับได้จากการตรวจจับประเภทต่างๆ เพราะงั้นวันนี้แอดมินจะมาอธิบายเกี่ยวกับเจ้าเทคโนโลยีล่องหนที่ว่านี่กันอย่างคร่าวๆ กันครับ

เทคโนโลยีล่องหน หรือ สเตลธ์ (Stealth) ที่หลายๆ คนคุ้นเคยนั้น เป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อลดการแผ่กระจายหรือการสะท้อนคลื่นเรดาร์, ความร้อน, เสียง ฯลฯ ของอากาศยานรบ เพื่อลดโอกาสในการถูกตรวจจับโดยระบบป้องกันทางอากาศของฝ่ายตรงข้าม ด้วยการออกแบบให้เครื่องบินมีเหลี่ยมมุมเพื่อใช้ในการหักเหคลื่นเรดาร์ มีการพรางคลื่นความร้อนที่ออกมาจากตัวเครื่อง การติดตั้งตำบลติดอาวุธไว้ในตัวเครื่อง หรือแม้กระทั่งใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นเรดาร์ในการเคลือบที่พื้นผิวของอากาศยาน แต่ทั้งนี้ กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ ก็ไม่ได้ทำให้อากาศยานนั้นล่องหนหายไปจากการตรวจจับเลยซะทีเดียว เพียงแต่ทำให้ถูกตรวจจับได้ยากขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ที่ระยะเดียวกัน เรดาร์ภาคพื้นสามารถตรวจพบ F-16 ว่าเป็นเครื่องบินขับไล่ แต่สามารถตรวจพบ F-35 ว่าเป็นวัตถุที่มีขนาดเล็กกว่า จนกระทั่ง F-35 เข้ามาใกล้มากขึ้นจึงสามารถตรวจจับได้ว่าเป็นเครื่องบินขับไล่ ทำให้ยากแก่การป้องกันตัวจากเครื่องบินรบล่องหนเหล่านี

ซึ่งนอกจากเครื่องบินรบที่เป็น Stealth เต็มตัวอย่าง B-2 Spirit, F-117 Nighthawk, F-22 Raptor ฯลฯ แล้ว ก็ยังมีเครื่องบินรบอีกแบบหนึ่ง ที่ถูกเรียกว่า Semi-Stealth หรือ กึ่งล่องหน อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเจ้าเครื่องบินกึ่งล่องหนพวกนี้ ก็คือเครื่องบินรบที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ล่องหนโดยเฉพาะ แต่ใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นเรดาร์เคลือบพื้นผิวของเครื่อง หรือ ออกแบบมาให้มีภาคตัดขวางเรดาร์ต่ำ ทำให้ถูกตรวจพบได้ยากขึ้น (แต่ไม่เท่าพวกที่เป็น Stealth เต็มตัว) เช่น Rafale, F/A-18 Advanced Super Hornet, F-15SE Silent Eagle เป็นต้น



เครื่องบินขับไล่ F-22 Raptor กองทัพอากาศสหรัฐ เป็นเครื่องบินขับไล่ที่ขึ้นชื่อว่าทันสมัยที่สุดในยุคปัจจุบัน มีภาคตัดขวางเรดาร์หรือ RCS ต่ำมาก จึงทำให้ถูกตรวจจับได้ยาก

ประชาธิปก อีกหนึ่งเครื่องบินที่ออกแบบและสร้างเองโดยคนไทย

ประชาธิปก อีกหนึ่งเครื่องบินที่ออกแบบและสร้างเองโดยคนไทย

หากเอ่ยถึงอากาศยานที่ออกแบบและสร้างขึ้นโดยฝีมือคนไทยแล้ว เชื่อว่าหลายๆ ท่านในที่นี้ คงจะต้องนึกถึง เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ "บริพัตร" ที่ออกแบบโดยท่าน นายพันโทหลวงพระเวชยันต์รังสฤษฎ์ (มุนี มหาสันทนะ) เป็นแน่ แต่น้อยคนนัก ที่จะรู้ว่าในประวัติศาสตร์การบินของชาติไทยนั้น ได้มีการออกแบบและสร้างเครื่องบินอีกเครื่องหนึ่งขึ้นมาด้วย ในเวลาที่ไล่เลี่ยกันกับการสร้างเครื่องบินแบบ บริพัตร นั่นก็คือ เครื่องบินขับไล่แบบ "ประชาธิปก" นั่นเอง แต่ทำไมเครื่องบินแบบนี้ถึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าที่ควร วันนี้แอดมินจะพาไปรู้จักประวัติคร่าวๆ ของเครื่องบินแบบนี้กันครับ

ย้อนกลับไปในปี 2467 หรือเกือบ 100 ปีที่แล้ว นับเป็นครั้งแรกที่ กรมอากาศยาน (กองทัพอากาศในปัจจุบัน) ได้ทำการส่งนายทหารช่างอากาศ ไปทำการศึกษาวิชาการช่างที่สหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของกองทัพบกสหรัฐ ภายหลังจากการมาเยือนกรมากาศยานของ พลจัตวา วิลเลียม มิตเชลล์ รองผู้บังคับการกรมอากาศยาน กองทัพบกสหรัฐ

โดยในครั้งนั้น กรมอากาศยานได้ส่ง นายพันตรี หลวงเวชยันต์รังสฤษฎ์ (มุนี มหาสันทนะ) และ นายพันตรี หลวงเนรมิตไพชยนต์ (เซี้ยง ศุษิลวรณ์) ไปทำการศึกษาวิชาอากาศยาน ณ แผนกวิศวกรรม กองบินทหารบกสหรัฐ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เราได้ทำการเรียนรู้เทคนิคการซ่อมสร้างอากาศยานจากประเทศอื่น ที่ไม่ใช่ฝรั่งเศส

ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วท่านทั้งสองก็ได้นำความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา กลับมาพัฒนากรมอากาศยานและศาสตร์ทางการบินของไทยให้เจริญยิ่งขึ้น โดยท่าน นายพันโทหลวงพระเวชยันต์รังสฤษฎ์ ได้ทำการดัดแปลงเครื่องบินแบบ เบร์เกต์ 14 ซึ่งในขณะนั้นเราสามารถสร้างเองได้แล้ว ให้เป็นเครื่องบินแบบใหม่ ได้ออกมาเป็นเครื่องบินแบบ บริพัตร นั่นเอง ส่วนท่าน นายพันโทหลวงเนรมิตไพชยนต์ นั้น ก็ได้ทำการออกแบบเครื่องบินขับไล่ขึ้นและสามารถทำการสร้างเครื่องต้นแบบได้สำเร็จในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเครื่องบินขับไล่ของท่าน นายพันโทหลวงเนรมิตไพชยนต์ นั้น ได้ใช้ชื่อว่า "ประชาธิปก" ซึ่งเป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานให้

แต่เป็นที่น่าเสียดาย ในปีเดียวกันกับที่เครื่องบินแบบ ประชาธิปก ถูกสร้างขึ้น (ปี 2472) ท่าน นายพันโทหลวงเนรมิตไพชยนต์ ได้ถึงแก่กรรม เนื่องจากเครื่องบินแบบ บริพัตร ที่ท่านทำการโดยสารไปนั้น ประสบอุบัติเหตุตกในวันที่ 22 ธันวาคม ณ จังหวัดอุทัยธานี ขณะทำการบินเดินทางเพื่อเยือนประเทศอินเดีย ทำให้ไม่มีผู้สานต่อโครงการ เครื่องบินขับไล่ที่ออกแบบและสร้างเองโดยคนไทยเครื่องนี้ จึงถูกยุติบทบาทลงด้วยเช่นกัน

เครื่องบินขับไล่แบบที่ 5 ประชาธิปก



บริพัตร เครื่องบินแบบแรกจากฝีมือคนไทย

บริพัตร หรือชื่อทางการว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบที่ 2 (บ.ท.2) เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ออกแบบโดย พ.ท. หลวงเวชยันต์รังสฤษฏ์ (มุนี มหาสันทนะ) หนึ่งในสองนายทหารช่างอากาศชาวไทยที่ถูกส่งให้ไปเรียนวิชาวิศวกรรมอากาศยานที่แผนกวิศวกรรม กองการบินทหารบกสหรัฐอเมริกา (อีกท่านหนึ่งคือ พ.ท. หลวงเนรมิตไพชยนต์ (เซี้ยง ศุษิลวรณ์)) ตามคำเชิญของ พลจัตวา วิลเลียม มิตเชลล์ รองผู้บังคับการกรมอากาศยาน สหรัฐอเมริกา

โดยเครื่องบินบริพัตรถูกออกแบบให้มี 2 ที่นั่ง ปีก 2 ชั้น โครงสร้างทำมาจากท่อภูราลูแมงและไม้ บุผ้า ส่วนเครื่องยนต์มี 2 รุ่นคือ เครื่องยนต์ลูกสูบดาวระบายความร้อนด้วยอากาศแบบ Jupiter ของอังกฤษ ให้แรงขับ 450 แรงม้า และเครื่องยนต์ลูกสูบเรียงระบายความร้อนด้วยของเหลวแบบBMW VI ขนาด 660 แรงม้า ของเยอรมนี เนื่องจากว่าเครื่องยนต์ของฝรั่งเศสที่เคยใช้อยู่ก่อนหน้ามีราคาแพงขึ้น (ก่อนหน้าที่จะผลิตบริพัตร กรมอากาศยาน สามารถสร้างเครื่องบินแบบ Breguet 15 ได้) และได้มีการทดสอบบินในวันที่ 24 มิถุนายน 2470 โดย ร.อ. จ่าง นิตินันทน์ เป็นผู้ทำการบินทดสอบ

ซึ่งภายหลังจากการนำเข้าประจำการแล้ว ในปี พ.ศ. 2472 เครื่องบินแบบ บริพัตร ก็ได้ทำหน้าที่เป็นทูตสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับอินเดีย โดยการบินไปเยือนประเทศอินเดียตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย และในปีถัดมาก็ได้ทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

หมายเหตุ ชื่อ "บริพัตร" เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ ตามพระนามของ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เพื่อเป็นเกียรติ และถือเป็นเครื่องบินแบบแรกที่ออกแบบและสร้างเองโดยคนไทย



สงครามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Warfare)

สงครามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Warfare) เชื่อว่าคำๆ นี้คงสร้างความสงสัยให้กับใครหลายๆ คนในที่นี้ว่า สงครามแบบนี้มันรบกันอย่างไร มีหน้าตาเป็นยังไง แล้วแตกต่างจากสงครามเต็มรูปอย่างไรบ้าง วันนี้แอดมินจะขอมาพูดถึงคำๆ นี้กันครับ

สงครามอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronics Warfare นั้น หมายถึงปฏิบัติการทางทหารที่มีเป้าหมายอยู่ที่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของข้าศึก ด้วยการโจมตีเพื่อให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของข้าศึกไม่สามารถใช้การได้เต็มประสิทธิภาพ โดยการโจมตีนั้นก็สามารถแบ่งออกได้หลายรูปแบบ อาทิ การดักฟังสัญญาณ การก่อกวน รวมไปถึงการทำลายเป้าหมาย ซึ่งรูปแบบการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่เราคุ้นเคยก็เช่น การก่อกวน/ทำลายเรดาร์และระบบตรวจจับต่างๆ เพื่อให้ข้าศึกไม่สามารถตรวจจับฝ่ายเราได้ การดักฟังและรวบรวมข่าวกรอง หรือแม้กระทั่งการโจรกรรมข้อมูล (Hack) นั้นก็นับว่าเป็นสงครามอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบหนึ่งครับ

ซึ่งในปัจจุบันนั้น สงครามอิเล็กทรอนิกส์ นับว่าเป็นอีกสมรภูมิหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการรบ ฝ่ายใดที่สามารถครองสมรภูมิสงครามอิเล็กทรอนิกส์ได้นั้น ก็แทบจะนับได้ว่าเป็นฝ่ายผู้ชนะ เพราะว่าในสงครามยุคปัจจุบันนั้น ระบบอิเล็กทรอนิกส์แทบจะเป็นทุกอย่างในสงคราม ยกตัวอย่างเช่น สงครามอ่าวเปอร์เซีย เพียงแค่วันแรกของสงคราม กองทัพอากาศสหรัฐและพันธมิตรสามารถทำลายฐานเรดาร์และระบบสื่อสารของอิรักได้ทั้งหมด ทำให้กองทัพอิรักไม่สามารถป้องกันตัวเอง

จากการโจมตีทางอากาศได้เลย จนพูดได้ว่าตลอดระยะเวลาที่มีการโจมตีทางอากาศนั้น การตอบโต้จากฝั่งอิรักแทบจะเป็นศูนย์ก็ว่าได้



เครื่องบินสงครามอิเล็คทรอนิกส์แบบ EA-18G Growler เป็น บ.สงครามอิเล็คทรอนิกส์แบบล่าสุดของ กองทัพเรือสหรัฐ ซึ่งในปัจจุบันถูกนำมาใช้ในการรบกับกองกำลังติดอาวุธ IS ในตะวันออกกลาง

ทหารอากาศกับสถานการณ์ชายแดนภาคใต้

ทหารอากาศกับสถานการณ์ชายแดนภาคใต้

มีคำถามเข้ามาครับ เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา ว่าปัจจุบันนั้น ทหารอากาศมีบทบาทหน้าที่อย่างไรบ้างในการแก้ไขปัญหา เพราะว่าในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์หรือสื่อแทบจะไม่มีข่าวของทหารอากาศในพื้นที่เหมือนกับทหารบกหรือตำรวจ วันนี้แอดมินจะมาพูดถึงเรื่องนี้กันครับ

สำหรับปัญหาความไม่สงบในบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ปัจจุบันกองทัพอากาศก็ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการจัดตั้ง กองกำลังทางอากาศเฉพาะกิจที่ 9 หรือ กกล.ทอ.ฉก.9 ขึ้นเพื่อเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยมีที่ตั้งหลักอยู่ที่ สนามบินบ่อทอง จ.ปัตตานี ซึ่งประกอบด้วยกำลังพลภาคพื้นและอากาศยานจากหน่วยงานต่างๆ ในกองทัพอากาศ จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2548 มีภารกิจหลักคือการลาดตระเวนทางอากาศและถ่ายภาพทางอากาศทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน การค้นหากู้ภัย และการลำเลียงทางอากาศ ซึ่งก็ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มขีดความสามารถ โดยกำลังพลทุกนายที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่นั้น ไม่ว่าจะเป็น ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ หรืออาสาสมัคร ก็หวังเพียงแค่ สักวันหนึ่ง ภาคใต้ของเราจะกลับมาสงบสุขดังเดิมครับ

เฮลิคอปเตอร์แบบ Bell 412 จากฝูงบิน 201 รักษาพระองค์ กองบิน 2 หนึ่งในอากาศยานหลักของ กกล.ทอ.ฉก.9



วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558

กว่าจะมาเป็น 'นักบิน'

เส้นทางสู่การมาเป็น 'นักบิน' ของกองทัพอากาศนั้น ปัจจุบันมีเพียงเส้นทางเดียวครับ นั่นคือจะต้องเข้ามาเป็น 'นักเรียนเตรียมทหาร' ในส่วนของกองทัพอากาศให้ได้เสียก่อน โดยผู้ที่จะเข้ามาเป็นนักเรียนเตรียมทหารได้นั้น จะต้องจบการศึกษาชั้น ม.3 และมีอายุอยู่ระหว่าง 14-17 ปี โดยจะต้องทำการสอบผ่านทั้งในด้านวิชาการและด้านร่างกาย (ปีหนึ่งๆ จะมีผู้สมัครราว 20,000 คน แต่มีผู้ที่สอบผ่านเพียง 80-90 คน) ซึ่งเมื่อสอบผ่านแล้ว ก็จะต้องมาฝึกศึกษา ณ โรงเรียนเตรียมทหาร จ.นครนายก เป็นเวลา 3 ปี โดยระหว่างที่เป็นนักเรียนเตรียมทหาร ก็จะได้รับการฝึกอบรมลักษณะทหาร ความเป็นผู้นำ และการศึกษาในระดับมัธยมปลาย เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวขึ้นสู่การเป็นนักเรียนเหล่าทัพต่อไป

เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารแล้ว นักเรียนเตรียมทหารในส่วนของกองทัพอากาศ ก็จะถูกส่งตัวมาศึกษาต่อ ณ โรงเรียนนายเรืออากาศ เพื่อเตรียมตัวที่จะจบมาเป็นนายทหารสัญญาบัตรหลักของกองทัพอากาศ โดยระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่นี้ นักเรียนนายเรืออากาศทุกคนก็จะได้รับการปลูกฝังความรู้เกี่ยวกับการบิน การทหาร และด้านความเป็นผู้นำ พร้อมทั้งจะได้รับการเรียนในสาขาต่างๆ คล้ายกับมหาวิทลัย (แบ่งเป็น 7 สาขา ได้แก่ สาขาด้านวิศวกรรม 5 สาขา และสาขาด้านวิทยาศาสตร์ 2 สาขา) เป็นเวลา 4 ปี และเมื่อจบการศึกษาก็จะได้รับพระราชทานกระบี่และแต่งตั้งยศเป็นเรืออากาศตรี

ซึ่งหลังจากนั้นแล้ว ก็จะมีนักเรียนนายเรืออากาศส่วนหนึ่ง (ประมาณ 40-50 คนต่อรุ่น) ได้รับเลือกให้เข้ามาเป็นศิษย์การบิน ณ โรงเรียนการบิน เพื่อมาศึกษาเกี่ยวกับการบินกับอากาศยาน โดยจะคัดเลือกจากนักเรียนนายเรืออากาศที่มีคุณลักษณะที่เหมาะสมแก่การเป็นผู้ทำการในอากาศ และเมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนการบิน ก็จะได้รับการบรรจุให้เป็นนักบินของกองทัพอากาศต่อไป



เครื่องบินโจมตีขนานแท้ อีกหนึ่งบทบาทที่กำลังจะเลือนหายไปจากหน้าสงครามทางอากาศ

เครื่องบินโจมตีขนานแท้ อีกหนึ่งบทบาทที่กำลังจะเลือนหายไปจากหน้าสงครามทางอากาศ

หลายๆ ครั้งที่เราชมภาพยนตร์สงครามหรือแม้กระทั่งในสถานการณ์จริงที่หน่วยทหารราบกำลังเผชิญหน้ากับกองกำลังขนาดใหญ่หรือยานเกราะของฝ่ายตรงข้าม เชื่อว่าทุกท่านคงจะต้องนึกถึงอากาศยานโจมตีของฝ่ายเรา ที่จะเข้ามาทำการสนับสนุนพร้อมกับปืนใหญ่อากาศประจำเครื่อง ระเบิดหรือจรวดที่มีอำนาจทำลายล้างสูง โดยจะเข้ามาบินต่ำชนิดที่คนที่อยู่บนพื้นแทบจะเห็นหน้านักบินเลยทีเดียว (ถ้านึกไม่ออก ลองดูฉาก Broken Arrow ใน We Were Soldier หรือฉากที่ A-10 เข้าทำการโจมตีสนับสนุนใน Transformers) แต่ในทุกวันนี้ บทบาทของเครื่องบินเหล่านี้กำลังจะค่อยๆ เลือนหายไปครับ

โดยในปัจจุบัน หลายๆ ประเทศกำลังลดบทบาทของเครื่องบินโจมตีขนานแท้ลง แล้วแทนที่ด้วยเครื่องบินขับไล่ทวิบทบาทแทน เห็นได้ชัดในกรณีของกองทัพอากาศสหรัฐ ที่กำลังกดดันให้มีการอนุมัติการปลดประจำการของ A-10 Thunderbolt เพื่อนำงบประมาณไปใช้กับเครื่องบินขับไล่แบบ F-35 Lightning II ท่ามกลางการไม่เห็นด้วยของหลายฝ่ายตั้งแต่ระดับ ผู้ปฏิบัติงานในสนาม ไปจนถึงระดับผู้ใหญ่ของกองทัพเอง

แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุเช่นนี้ก็เพราะว่า หลายฝ่ายมองว่าภัยคุกคามในสมัยใหม่นั้น มีความเสี่ยงสูงต่อเครื่องบินโจมตีที่มักจะมีความเร็วและความคล่องตัวต่ำ อีกทั้งงบประมาณที่ใช้ในการบำรุงรักษาอากาศยานในกองทัพนั้นก็มีท่าทีจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การลดแบบของอากาศยานในประจำการ แล้วทดแทนด้วยอากาศยานที่สามารถทำได้หลายภารกิจนั้นจะช่วยในส่วนนี้ได้ อีกทั้งยุทโธปกรณ์สมัยใหม่นั้นก็มีอำนาจการทำลายล้างและความแม่นยำสูง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องบินโจมตีที่มีความเร็วต่ำเพื่อให้สามารถใช้อาวุธได้อย่างแม่นยำอีกต่อไป

แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีหลายฝ่ายออกมาแย้ง ว่าเครื่องบินขับไล่ทวิบทบาทอย่าง F-16 Fighting Falcon, F/A-18 Hornet หรือแม้กระทั่ง F-35 Lightning II นั้น ไม่สามารถนำมาทดแทนเครื่องบินโจมตีขนานแท้อย่าง A-10 Thunderbolt II ได้ในหลายๆ ภารกิจ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงรวมถึงค่าบำรุงรักษาที่สูงกว่ามาก ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันขึ้นมาและยังคงหาข้อสรุปที่แน่นอนไม่ได้ ว่าสุดท้ายแล้ว เครื่องบินโจมตีขนานแท้ กับ เครื่องบินขับไล่ทวิบทบาท นั้น อะไรคือสิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการได้มากกว่ากัน

ส่วนตัวผมเองแล้ว มองว่ายุคของเครื่องบินโจมตีขนานแท้อย่าง A-10 นั้นใกล้จะปิดม่านลงแล้วครับ แต่เครื่องบินโจมตีนั้นจะยังไม่จบตาม โดยจะถูกดำเนินด้วยเครื่องบินโจมตีขนาดเบาอย่าง Super Tucano หรือเครื่องบินฝึกติดอาวุธอย่าง T-50 หรือ Yak-130 แทน โดยจะถูกใช้ในภารกิจสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด (Close Air Support : CAS) เป็นหลัก ส่วนภารกิจโจมตีทางอากาศ (Air Strike) นั้น จะเป็นบทบาทของเครื่องบินขับไล่ทวิบทบาทแทนเครื่องบินโจมตีครับ ซึ่งในปัจจุบัน บางหน่วยของ ทอ. สหรัฐเองก็เริ่มทำการฝึกกับSuper Tucano เพื่อนำไปใช้ในภารกิจต่อต้านผู้ก่อการร้ายในตะวันออกกลาง

แล้วเพื่อนๆ คิดว่าอย่างไรกันบ้างครับกับเรื่องนี้



เครื่องบินโจมตี A-10 Thunderbolt II 


เครื่องบินโจมตี A-4E Skyhawk


เมื่อเหยี่ยวประจัญบานสัญชาติไทย เจอกับยักษ์ใหญ่ B-52

ในการฝึก Cobra Gold เมื่อหลายปีที่ผ่านมา เคยมีการนำเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แบบ B-52H Stratofortress เข้าร่วมการฝึกด้วย โดยทำการบินตรงมาจากฐานทัพอากาศ Anderson เกาะกวม มายังประเทศไทย เพื่อให้เครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศไทยทำการฝึกเข้าสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว B-52 ก็วกกลับที่ตั้งเลย โดยไม่มีการลงจอดที่ไหนครับ



ภาพ F-16A/B จากฝูงบิน 103 และ 403 ขึ้นไปทำการฝึกสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52H สังเกตว่าทั้งสองภาพนั้น เป็นการฝึก Cobra Gold คนละปีกัน เนื่องจากเป็น B-52 คนละเครื่องกันครับ


แถมด้วยภาพ F-5B/E ของฝูง 701 ที่ขึ้นไปทำการฝึกสกัดกั้นเช่นกันครับ โดยภาพนี้ถ่ายจากเครื่อง B-52 ครับ

ควันสีขาวบนพื้นผิวของเครื่องบินรบ ที่เรามักจะเห็นอยู่บ่อยๆ คืออะไร??

ควันสีขาวบนพื้นผิวของเครื่องบินรบ ที่เรามักจะเห็นอยู่บ่อยๆ คืออะไร??

เป็นหนึ่งคำถามที่ถามกันเข้ามาบ่อยๆ ครับ ว่าเจ้าควันสีขาวที่มักจะเกิดขึ้นบริเวณพื้นผิวของเครื่องบินรบสมรรถนะสูงอย่าง F-16 หรือ Gripen เวลาที่ทำการเลี้ยวหรือเปลี่ยนท่าทางการบินด้วยความเร็วสูงนั้น คืออะไรกันแน่ บางท่านก็คิดว่าเครื่องบินมีปัญหาหรือเปล่า ถึงได้เกิดควันเช่นนั้นขึ้น วันนี้ แอดมินจะมาเฉลยคำถามดังกล่าวครับ

สำหรับเจ้าควันสีขาวๆ ที่มักจะเกิดบนพื้นผิวของเครื่องบินรบให้เราเห็นกันบ่อยๆ ในงานแอร์โชว์นั้น ความจริงแล้วมันคือ ไอน้ำ นั่นเองครับ (ภาษาอังกฤษ รู้สึกว่าจะเรียกว่า Vapour Trail) มีสาเหตุมาจาก การลดลงของความกดอากาศเมื่ออากาศไหลผ่านปีกของเครื่องบินด้วยความเร็วสูงหรือเกิดจากกระแสอากาศม้วนตัวที่ปลายปีก ทำให้ความดันอากาศลดลงในบริเวณนั้น ส่งผลให้เกิดการควบแน่นของไอน้ำขึ้น ทำให้เรามักจะเห็นเป็นควันสีขาวๆ อยู่บนพื้นผิวของเครื่องบินนั่นเองครับ

ส่วนควันสีขาวอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเรามักจะเห็นเป็นทางยาวอยู่บนท้องฟ้า อันนี้เรียกว่า Contrail ครับ อันนี้จะเกิดขึ้นกับเครื่องบินทุกประเภทที่บินในระดับความสูงตั้งแต่ 20,000 ฟิตขึ้นไป (ในบางพื้นที่ ความสูงต่ำกว่านี้ก็อาจจะเกิด Contrail เช่นกัน) สาเหตุมาจาก ไอน้ำที่พ่นออกมาจากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ของอากาศยาน เมื่อไอน้ำนั้นผ่านบรรยากาศที่มีความเย็น ทำให้เกิดการควบแน่นและก่อให้เกิดเป็นเส้นสีขาวๆ อย่างที่เราเห็นกันครับ



เครื่องบินขับไล่ Su-30MKM กองทัพอากาศมาเลเซีย ขณะทำการเลี้ยว ส่งผลให้เกิดไอน้ำก่อตัวขึ้นบนพื้นผิว


ในภาพนี้คือ Contrail ที่เกิดจากการที่เครื่องบินบินอยู่ในระดับสูง มักจะเห็นกับเครื่องบินพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่

ปืนกลอากาศ กับการรบทางอากาศในปัจจุบัน

ปืนกลอากาศ กับการรบทางอากาศในปัจจุบัน

หากย้อนกลับไปตั้งแต่ครั้งที่เริ่มต้นมีการนำอากาศยานเข้ามาสู่การรบ ไม่ว่าจะเป็นในสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 สงคามเกาหลี และอีกหลายๆ สมรภูมิ เขี้ยวเล็บหลักอย่างหนึ่งของอากาศยานที่หลายท่านคุ้นตาคงจะหนีไม่พ้นเจ้า ปืนกลอากาศ นั่นเอง อาวุธที่สร้างให้บรรดานักบินรบหลายต่อหลายยุคก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง เสืออากาศ อันเลื่องชื่อ แต่ว่าบัดนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากขึ้น ทำให้อาวุธหลักของอากาศยานรบถูกเปลี่ยนโฉมหน้าไป จากปืนกลอากาศที่ต้องใช้ความประณีตในการยิงเพื่อพิฆาตเป้าหมาย มาเป็นอาวุธนำวิถีที่มีความแม่นยำสูง แต่ถึงอย่างนั้น บทบาทของปืนกลอากาศก็ยังคงไม่ลบเลือนไปจากหน้าสงครามทางอากาศ ถึงแม้จะถูกลดบทบาทลงอย่างมากก็ตาม

ก่อนอื่น ขออนุญาตมาทำความรู้จักกับเจ้า ปืนกลอากาศ กันอย่างคร่าวๆ สักหน่อยครับ สำหรับเจ้าปืนกลอากาศนั้น ความหมายก็ตรงตัวเลยครับ นั่นก็คือปืนที่ถูกติดตั้งกับอากาศยาน เพื่อให้สำหรับต่อสู้หรือป้องกันตัวจากข้าศึก โดยเราจะแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ นั่นก็คือ ปืนกลอากาศ และ ปืนใหญ่อากาศ (ปืนที่มีขนาดใหญ่กว่า 20 มม. ขึ้นไป นับเป็น ปืนใหญ่อากาศ ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวรวมๆ ว่า ปืนกลอากาศ ทั้งหมดครับ)

กลับมาที่หัวข้อของเรา ปืนกลอากาศ กับการรบทางอากาศในยุคปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในปัจจุบันนั้น อาวุธนำวิถียุคใหม่ที่มีความแม่นยำสูง ได้เข้ามาแทนที่ปืนกลอากาศในเกือบจะทุกด้านการใช้งาน ไม่ว่าจะด้วยเพราะความแม่นยำที่สูงกว่า พิสัยที่ไกลกว่า อำนาจการทำลายที่สูงกว่า แต่ถึงอย่างนั้น เครื่องบินรบยุคใหม่ๆ อย่าง F-22 Raptor หรือ F-35 Lightning II ก็ยังคงมีปืนกลอากาศเป็นเขี้ยวเล็บอยู่ถึงแม้ว่าจะมีอาวุธนำวิถีที่สุดจะล้ำสมัยอยู่แล้วก็ตาม แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

สาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เครื่องบินรบในสมัยปัจจุบันนั้นยังคงติดตั้งปืนกลอากาศอยู่ นั่นก็คือผลจากการรบทางอากาศในสมัยสงครามเวียดนาม สมรภูมิซึ่งกองทัพสหรัฐมั่นใจในศักยภาพของอาวุธนำวิถีของตัวเองมากเสียจน ถอดปืนกลอากาศออกจากเครื่องบินขับไล่หลักอย่าง F-4 Phantom ของทั้งทัพฟ้าและนาวี ซึ่งบทเรียนจากการกระทำดังกล่าวก็ปรากฏขึ้นแทบจะทันที เมื่อ F-4 หลายเครื่องของสหรัฐ ต้องประสบกับความสูญเสียเมื่อทำการรบกับเครื่อง MiG ของเวียดนามเหนือ เนื่องจากอาวุธนำวิถีที่มีศักยภาพต่ำกว่าที่ควร และการรบหลายครั้งเกิดในระยะประชิดมากเกินกว่าที่จะใช้อาวุธนำวิถีได้ เมื่อไม่มีปืนกลอากาศ นักบินขับไล่หลายคนจึงต้องสูญเสียโอกาสที่จะสังหารข้าศึก และหลายคนเปลี่ยนสถานะจากผู้ล่ามาสู่การเป็นผู้ถูกล่าอย่างน่าเสียดาย

จากบทเรียนในสมรภูมิเวียดนาม ทำให้เครื่องบินขับไล่หลายๆแบบในยุคต่อมา กลับมาติดตั้งปืนกลอากาศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อใช้ในกรณีที่อาวุธหลักอย่างจรวดนำวิถีนั้น ไม่สามารถใช้งานได้ หรือใช้ในภารกิจอื่นๆ เช่น การยิงกดดันข้าศึกภาคพื้น การโจมตีทางอากาศ ฯลฯ ซึ่งในบางครั้ง การใช้ปืนกลอากาศนั้น ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการใช้อาวุธนำวิถีที่มีอำนาจการทำลายสูงกว่า



เครื่องบินขับไล่แบบ F-5E Tiger II ติดตั้งปืนใหญ่อากาศขนาด 20 มม. แบบ M39 จำนวน 2 กระบอก ไว้ที่ส่วนหัวของเครื่อง


เครื่องบินขับไล่ F-22 Raptor ติดตั้งปืนใหญ่อากาศขนาด 20 มม. แบบ M61A2 จำนวน 1 กระบอก ไว้บริเวณโคนปีกด้านขวาของเครื่อง ซึ่งในเวลาปกติ ห้องปืนของ F-22 จะถูกปิดไว้เพื่อให้เครื่องบินมีคุณสมบัติในการล่องหน (Stealth) สูงที่สุด และห้องปืนจะเปิดออกเหมือนกับในภาพ เมื่อนักบินต้องการใช้ปืนใหญ่อากาศ


ทำไมถึงห้ามเข้าใกล้อากาศยานเวลาติดเครื่องยนต์??

ทำไมถึงห้ามเข้าใกล้อากาศยานเวลาติดเครื่องยนต์??

มีคำถามมาครับ ว่าทำไมเวลาที่เราไปดูงานวันเด็กหรืองานแอร์โชว์ต่างๆ นั้น จึงต้องมีรั้วกั้นบริเวณหรือมีเจ้าหน้าที่ควบคุมอย่างเข้มงวด ทำให้ผู้ชมไม่สามารถเข้าไปชมอากาศยานที่จะทำการแสดงได้อย่างใกล้ชิด ทำไมถึงต้องเป็นเช่นนั้น วันนี้แอดมินจะมาอธิบายถึงสาเหตุกันครับ

สาเหตุที่ต้องกั้นบริเวณให้ผู้ชมไม่สามารถเข้าไปชมอากาศยานที่กำลังติดเครื่องอยู่ได้นั้น ก็เป็นเพราะว่าในขณะที่เครื่องบินกำลังติดเครื่องอยู่นั้น เครื่องยนต์จะทำการดูดอากาศเข้าไปทางช่องรับอากาศและปล่อยแรงผลักออกมาจากทางท่อท้ายของเครื่อง เมื่อเป็นเช่นนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับทั้งผู้ชม เจ้าหน้าที่ และอากาศยาน จึงต้องทำการกั้นบริเวณไม่ให้ผู้ชมเข้าไปในระยะที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ซึ่งอันตรายดังกล่าวก็อาทิ การที่เครื่องยนต์ดูดทรัพย์สินต่างๆ ที่จัดว่าเป็น FOD เข้าสู่เครื่องยนต์ทำให้เกิดความเสียหายต่ออากาศยาน หรือเลวร้ายกว่านั้นคือดูดเอาผู้ที่เข้าไปอยู่ใกล้ๆ เข้าไปในเครื่องยนต์ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความสูญเสียที่ไม่คาดฝันขึ้นได้ หรือไม่เช่นนั้น ถ้าหากเข้าทางด้านท้ายของเครื่อง ก็อาจจะถูกกระแสเจ็ตของเครื่องยนต์พัดจนได้รับบาดเจ็บได้ครับ รวมถึงจะได้ไม่เป็นการเข้าไปขัดขวางการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ในบริเวณ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องทำการกั้นบริเวณเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับทุกฝ่ายครับ


การแสดงของ F-16B ณ โรงเรียนการบินกำแพงแสน เห็นได้ว่าต้องมีเจ้าหน้าที่มายืนควบคุม ไม่ให้ประชาชนหลุดเข้าไปอยู่ในบริเวณที่อาจเป็นอันตราย