วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558

THAT OTHERS MAY LIVE… เพื่อชีวิตผู้อื่นอยู่รอด!!!

THAT OTHERS MAY LIVE… เพื่อชีวิตผู้อื่นอยู่รอด!!!

หากมีใครสักคนเอ่ยถึงนักรบแห่งกองทัพอากาศแล้ว เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงจะนึกถึง นักบินขับไล่ในชุดบินสีเขียวกับเครื่องบินรบสุดล้ำที่พร้อมจะทะยานเข้าประจัญกับอากาศยานของข้าศึก หรือไม่ก็ทหารอากาศโยธินในชุดฝึกพรางพร้อมกับอาวุธประจำกาย เป็นแน่นอน แต่จะมีสักกี่คนที่นึกถึง นักรบอีกผู้หนึ่ง นักรบที่ไม่ได้มีหน้าที่ประจัญบานกับข้าศึก แต่มีหน้าที่ในการเข้าช่วยเหลือฝ่ายเดียวกันที่กำลังตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของฝ่ายตรงข้ามเพื่อพาพวกเขาเหล่านั้นกลับมายัง "บ้าน" ภารกิจที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ปิดทองหลังพระเมื่อยามเกิดศึกสงคราม วันนี้แอดมินจะมาแนะนำให้รู้จักพวกเขากันแบบคร่าวๆ ครับ

พลร่มกู้ภัย หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ PJ (Pararescue Jumper) นั้น คือชื่อเรียกของเจ้าหน้าที่หน่วยหนึ่ง ที่มีภารกิจหลักในการเข้าช่วยชีวิตนักบินหรือผู้ทำการในอากาศที่อากาศยานประสบอุบัติเหตุตกหรือถูกยิงตกในพื้นที่การรบหรือพื้นที่ของข้าศึกนั้นเอง ซึ่งนับว่าเป็นภารกิจที่มีความเสี่ยงสูง โดยผู้ที่จะเข้ามายืนอยู่จุดนี้ได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกหลายๆ อย่างเพื่อให้มีความสามารถในการปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วง อาทิ การฝึกการกู้ภัย การฝึกการรบนอกแบบ การฝึกปฐมพยาบาล การกระโดดร่มทางยุทธวิธี ฯลฯ

โดยในส่วนของกองทัพอากาศไทยนั้น เริ่มมีภารกิจในการค้นหาและกู้ภัยมาตั้งแต่ประมาณช่วงปี 2500 แต่ในขณะนั้นยังไม่มีหลักสูตรการฝึกที่แน่นอน จนกระทั่งในประมาณปี 2518 จึงได้เริ่มมีการวางหลักสูตรสำหรับพลร่มกู้ภัยขึ้น เพื่อช่วยเหลือนักบินที่ประสบอุบัติเหตุจากการรบกับ ผกค. จากนั้นจึงได้มีการให้กรมอากาศโยธิน (หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ในปัจจุบัน) ทำการปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัยและครอบคลุมมากขึ้นในช่วงปี 2526 โดยมีการฝึกทั้งในภาคที่ตั้ง ภาคอากาศ ภาคทะเล และภาคป่า รวมถึงการรบนอกแบบ

แต่ในปัจจุบัน กองทัพอากาศได้รวมให้หลักสูตร พลร่มกู้ภัย และ หลักสูตร ปฏิบัติการพิเศษ (Commando) เข้าเป็นหลักสูตรเดียวกัน โดยผู้ทำจบจากหลักสูตร ก็จะได้รับการบรรจุเข้าใน กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน กองทัพอากาศ

Royal Thai Air Force CSAR Team




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น