วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558

ปืนกลอากาศ กับการรบทางอากาศในปัจจุบัน

ปืนกลอากาศ กับการรบทางอากาศในปัจจุบัน

หากย้อนกลับไปตั้งแต่ครั้งที่เริ่มต้นมีการนำอากาศยานเข้ามาสู่การรบ ไม่ว่าจะเป็นในสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 สงคามเกาหลี และอีกหลายๆ สมรภูมิ เขี้ยวเล็บหลักอย่างหนึ่งของอากาศยานที่หลายท่านคุ้นตาคงจะหนีไม่พ้นเจ้า ปืนกลอากาศ นั่นเอง อาวุธที่สร้างให้บรรดานักบินรบหลายต่อหลายยุคก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง เสืออากาศ อันเลื่องชื่อ แต่ว่าบัดนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากขึ้น ทำให้อาวุธหลักของอากาศยานรบถูกเปลี่ยนโฉมหน้าไป จากปืนกลอากาศที่ต้องใช้ความประณีตในการยิงเพื่อพิฆาตเป้าหมาย มาเป็นอาวุธนำวิถีที่มีความแม่นยำสูง แต่ถึงอย่างนั้น บทบาทของปืนกลอากาศก็ยังคงไม่ลบเลือนไปจากหน้าสงครามทางอากาศ ถึงแม้จะถูกลดบทบาทลงอย่างมากก็ตาม

ก่อนอื่น ขออนุญาตมาทำความรู้จักกับเจ้า ปืนกลอากาศ กันอย่างคร่าวๆ สักหน่อยครับ สำหรับเจ้าปืนกลอากาศนั้น ความหมายก็ตรงตัวเลยครับ นั่นก็คือปืนที่ถูกติดตั้งกับอากาศยาน เพื่อให้สำหรับต่อสู้หรือป้องกันตัวจากข้าศึก โดยเราจะแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ นั่นก็คือ ปืนกลอากาศ และ ปืนใหญ่อากาศ (ปืนที่มีขนาดใหญ่กว่า 20 มม. ขึ้นไป นับเป็น ปืนใหญ่อากาศ ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวรวมๆ ว่า ปืนกลอากาศ ทั้งหมดครับ)

กลับมาที่หัวข้อของเรา ปืนกลอากาศ กับการรบทางอากาศในยุคปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในปัจจุบันนั้น อาวุธนำวิถียุคใหม่ที่มีความแม่นยำสูง ได้เข้ามาแทนที่ปืนกลอากาศในเกือบจะทุกด้านการใช้งาน ไม่ว่าจะด้วยเพราะความแม่นยำที่สูงกว่า พิสัยที่ไกลกว่า อำนาจการทำลายที่สูงกว่า แต่ถึงอย่างนั้น เครื่องบินรบยุคใหม่ๆ อย่าง F-22 Raptor หรือ F-35 Lightning II ก็ยังคงมีปืนกลอากาศเป็นเขี้ยวเล็บอยู่ถึงแม้ว่าจะมีอาวุธนำวิถีที่สุดจะล้ำสมัยอยู่แล้วก็ตาม แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

สาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เครื่องบินรบในสมัยปัจจุบันนั้นยังคงติดตั้งปืนกลอากาศอยู่ นั่นก็คือผลจากการรบทางอากาศในสมัยสงครามเวียดนาม สมรภูมิซึ่งกองทัพสหรัฐมั่นใจในศักยภาพของอาวุธนำวิถีของตัวเองมากเสียจน ถอดปืนกลอากาศออกจากเครื่องบินขับไล่หลักอย่าง F-4 Phantom ของทั้งทัพฟ้าและนาวี ซึ่งบทเรียนจากการกระทำดังกล่าวก็ปรากฏขึ้นแทบจะทันที เมื่อ F-4 หลายเครื่องของสหรัฐ ต้องประสบกับความสูญเสียเมื่อทำการรบกับเครื่อง MiG ของเวียดนามเหนือ เนื่องจากอาวุธนำวิถีที่มีศักยภาพต่ำกว่าที่ควร และการรบหลายครั้งเกิดในระยะประชิดมากเกินกว่าที่จะใช้อาวุธนำวิถีได้ เมื่อไม่มีปืนกลอากาศ นักบินขับไล่หลายคนจึงต้องสูญเสียโอกาสที่จะสังหารข้าศึก และหลายคนเปลี่ยนสถานะจากผู้ล่ามาสู่การเป็นผู้ถูกล่าอย่างน่าเสียดาย

จากบทเรียนในสมรภูมิเวียดนาม ทำให้เครื่องบินขับไล่หลายๆแบบในยุคต่อมา กลับมาติดตั้งปืนกลอากาศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อใช้ในกรณีที่อาวุธหลักอย่างจรวดนำวิถีนั้น ไม่สามารถใช้งานได้ หรือใช้ในภารกิจอื่นๆ เช่น การยิงกดดันข้าศึกภาคพื้น การโจมตีทางอากาศ ฯลฯ ซึ่งในบางครั้ง การใช้ปืนกลอากาศนั้น ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการใช้อาวุธนำวิถีที่มีอำนาจการทำลายสูงกว่า



เครื่องบินขับไล่แบบ F-5E Tiger II ติดตั้งปืนใหญ่อากาศขนาด 20 มม. แบบ M39 จำนวน 2 กระบอก ไว้ที่ส่วนหัวของเครื่อง


เครื่องบินขับไล่ F-22 Raptor ติดตั้งปืนใหญ่อากาศขนาด 20 มม. แบบ M61A2 จำนวน 1 กระบอก ไว้บริเวณโคนปีกด้านขวาของเครื่อง ซึ่งในเวลาปกติ ห้องปืนของ F-22 จะถูกปิดไว้เพื่อให้เครื่องบินมีคุณสมบัติในการล่องหน (Stealth) สูงที่สุด และห้องปืนจะเปิดออกเหมือนกับในภาพ เมื่อนักบินต้องการใช้ปืนใหญ่อากาศ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น