วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558

ยุทธเวหาครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย

ยุทธเวหาครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย

นับตั้งแต่ที่การบินเข้ามามีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาแสดงการบินครั้งแรกของ นายวัลเดน เบอร์น (Vanden Born) นักบินชาวเบลเยี่ยม ในสมัยรัชกาลที่ 6 การส่งนายทหาร 3 ท่านแรกไปศึกษาด้านการบินที่ประเทศฝรั่งเศส แล้วกลับมาจัดตั้งแผนกการบิน สังกัดกองทัพบก (ภายหลังพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนมาเป็น กองทัพอากาศ) การออกแบบและผลิตเครื่องบินแบบ บริพัตร ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบแรกที่คนไทยทำขึ้นเอง และอีกหลายๆ เหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ แต่น่าแปลกที่ไม่ค่อยมีการเอ่ยถึง การรบทางอากาศ หรือ ยุทธเวหาครั้งแรกของไทยสักเท่าไร แล้วเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อไร แอดมินจะมาเล่าถึงการยุทธเวหาครั้งแรกของไทยแบบคร่าวๆ ให้ฟังกันครับ

ก่อนอื่น ก่อนที่เราจะมาพูดถึงเรื่องการยุทธเวหาครั้งแรกของไทยกัน ขอพูดถึงสถานการณ์บ้านเมืองของเราในขณะนั้นสักนิดครับ ช่วงนั้น (ช่วงปี 2480) เป็นช่วงที่ฝรั่งเศสกำลังเข้ามามีบทบาทอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยเราเองก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องเขตแดนที่เราเสียไปตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นระหว่างไทยและฝรั่งเศส ก่อนจะนำไปสู่การปะทะกัน ภายใต้ชื่อ "กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส"

โดยยุทธเวหาครั้งแรกของไทยนั้น เกิดขึ้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2483 เมื่อเครื่องบินขับไล่แบบ Morane 406 จำนวน 5 เครื่อง พร้อมทั้งเครื่องบินลาดตระเวนแบบ Potez 25 จำนวน 1 เครื่องของฝรั่งเศส ได้บินรุกล้ำเข้ามาทางทิศใต้ของจังหวัดนครพนมในช่วงเช้าของวัน ทำให้ เรืออากาศตรี ศานิต นวลมณี (นักบิน) และ จ่าอากาศโท ประยูร สุกุมลจันทร์ (พลปืนหลัง) ต้องรีบนำเครื่องบินโจมตีแบบ Corsair ขึ้นทำการสกัดกั้นฝูงบินข้าศึก การพัวพันกลางเวหาแบบ 1 ต่อ 5 ระหว่างนักบินไทยกับข้าศึกอุบัติขึ้นอย่างห้าวหาญ แต่แล้วโชคก็ตกเป็นของฝ่ายเรา เมื่อเครื่อง Morane เครื่องหนึ่งถูกยิงตก ก่อนที่กระสุนของฝ่ายเราจะหมดลง ท่านศานิตจึงพยายามนำเครื่องบินของตนกลับเข้าสู่น่านฟ้าของนครพนม ท่ามกลางการไล่ตามอย่างกระชั้นชิดของเครื่องบินข้าศึก จนกระทั่ง พันจ่าอากาศเอก ทองใบ พันธุ์สบาย และ จ่าอากาศเอก นาม พุ่มรุ่งเรืองได้นำเครื่องบินขับไล่แบบ Hawk 3 เข้าทำการสกัดกั้น ฝูงบินของข้าศึกจึงถอยร่นออกไป

ยุทธเวหาครั้งแรกของไทยจึงได้ปิดฉากลง โดยที่ฝ่ายเราไม่มีการสูญเสียแต่อย่างใด แต่เป็นที่น่าเสียดาย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ปีเดียวกัน กองทัพอากาศไทย ได้ส่งเครื่องบินฝูงใหญ่เข้าทำการทิ้งระเบิดนครเวียงจันทร์ ซึ่งมีเครื่องบิน Corsair ที่ท่านเรืออากาศโท ศานิต (ได้รับพระราชทานยศเมื่อ 30 พ.ย.) เป็นนักบินเข้าร่วมการปฏิบัติการครั้งนั้นด้วย แต่โชคร้ายที่เครื่อง Corsair ของท่าน ถูกระดมยิงจากภาคพื้นจนเครื่องเกิดไฟลุกไหม้ ส่งผลให้ จ่าอากาศเอก เฉลิม ดำสัมฤทธิ์ พลปืนหลัง เสียชีวิต ส่วนท่านศานิตนั้นถูกยิงเข้าที่หัวเข่า แต่ยังพยายามประคองเครื่องบินกลับมาฝั่งไทยจนถูกไฟลวก ทำให้ต้องสละเครื่อง ท่านได้ทำการกระโดดร่มลงในหนองน้ำ บริเวณบ้านพรานพร้าว อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ก่อนจะถูกนำตัวมารักษาที่โรงพยาบาลทหารในกรุงเทพ ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต สร้างความเศร้าโศกให้กับคนไทย ต่อวีรบุรุษเสืออากาศผู้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ

Royal Thai Air Force Corsair

ขอบคุณภาพจาก Mark Rourke ครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น