วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การบาดเจ็บจากการสละอากาศยาน

การบาดเจ็บจากการสละอากาศยา

คิดว่าหลายๆ ท่านที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับอากาศยานทางทหารมาตลอด คงจะผ่านตามาบ้าง สำหรับข่าวของการสละอากาศยานแล้วได้รับการบาดเจ็บ ซึ่งอาจจะนำมาสู่คำถามที่ว่า ทำไมนักบินถึงบาดเจ็บ เป็นเพราะเก้าอี้ดีดสำหรับสละอากาศยานไม่มีความปลอดภัยใช่หรือไม่ หรือเป็นเพราะอะไรกันแน่ วันนี้ผมจะมาขอพูดเรื่องนี้ให้ฟังกันแบบคร่าวๆ ครับ

สำหรับการสละอากาศยาน หรือที่เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า "ดีดตัว" นั้น เป็นขั้นตอนที่นักบินจะปฏิบัติเมื่ออากาศยานเกิดเหตุไม่คาดคิดจนไม่สามารถทำการควบคุมต่อไปได้ จึงต้องทำการสละอากาศยาน ซึ่งการสละอากาศยานนั้นก็มีหลายแบบแตกต่างกันออกไปตามรุ่นของอากาศยานนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการปีนออกไปที่ปีกแล้วจึงสละอากาศยาน หรือ การดีดตัวออกด้วยเก้าอี้ดีด ซึ่งในกรณีนี้ ขอพูดถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการใช้เก้าอี้ดีดตัวก่อนนะครับ

สำหรับการใช้เก้าอี้ดีดในการสละอากาศยานนั้น สิ่งหนึ่งที่นักบินจะต้องตระหนักถึงก่อนที่จะทำการดีดตัวออกมาจากอากาศยานนั้นมีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ความเร็วของเครื่อง ท่าทางการบิน ระยะสูง (ถึงแม้ว่า เก้าอี้ดีดรุ่นใหม่ๆ จะมีคุณสมบัติที่สามารถดีดตัวได้ในทุกท่าทางการบินหรือสามารถดีดตัวแม้จอดอยู่ที่พื้นก็ตาม แต่การดีดตัวในขณะทำการบินระดับ ความเร็วต่ำและมีระยะสูง ก็มีความปลอดภัยสูงกว่าการดีดตัวในท่าทางอื่นๆ) รวมถึงการจัดท่าทางของตัวนักบินเอง ก่อนที่จะทำการดีดตัวก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะว่าเมื่อจรวดที่อยู่ภายในเก้าอี้ดีดตัวทำการจุดระเบิดเพื่อส่งนักบินพร้อมทั้งเก้าอี้ดีดออกจากเครื่อง นักบินจะต้องเจอกับแรงจีที่ไม่ต่ำกว่า 10 จีเป็นแน่ (เคยอ่านพบว่าในเก้าอี้ดีดบางรุ่นของรัสเซีย เมื่อดีดตัวจะเกิดแรงจีสูงถึง 20-22 จี) เพราะอย่างนั้น นักบินจึงต้องจัดตัวเองในท่าทางที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดอาการบาดเจ็บขึ้นกับร่างกายก็เป็นได้ ยกตัวอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้น เมื่อมีนักบินขับไล่ท่านหนึ่งของกองทัพอากาศสหรัฐ ทำการดีดตัวเมื่อเครื่องบินทำการบินด้วยความเร็วเหนือเสียง ส่งผลให้กระดูกร้าวทั่วร่างเนื่องจากแรงที่กระทำต่อร่างกาย จนต่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่าครึ่งปี หรือ นักบินขับไล่ที่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง เนื่องจากการจัดท่าทางที่ผิดในขณะที่ดีดตัว เป็นต้น

ซึ่งนอกจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่ทำการดีดตัวออกจากอากาศยานแล้ว การลงพื้นก็มีอันตรายไม่แพ้กัน เพราะในการลงพื้นนั้น ถ้าหากเจออุปสรรคอย่าง ทิศทางลมที่ไม่แน่นอน ลมแรง ส่งผลให้เราลงสู่พื้นเร็วจนเกินไป หรือไม่สามารถควบคุมทิศทางของร่มได้ รวมถึงท่าทางการลงพื้นที่อาจจะผิดพลาด สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบอาจจะทำให้เราได้รับบาดเจ็บได้ทั้งนั้น หรือบางครั้ง การกระโดดร่มลงน้ำก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สูญเสียนักบินฝีมือดีไปไม่น้อย เมื่อเกิดเหตุการณ์ร่มชูชีพพันลำตัวและไม่สามารถแก้ไขได้

แต่ถึงอย่างนั้น ก็คงกล่าวว่าเป็นความผิดของระบบอากาศยานไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้ว ระบบอากาศยานนั้นถูกออกแบบมาเพียงเพื่อให้นักบินสามารถทำการสละอากาศยานออกมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถควบคุมอากาศยานได้เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้น ในปัจจุบันก็ยังคงมีการพัฒนาระบบสละอากาศยานต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับผู้บังคับอากาศยานเมื่อขึ้นทำการบิน





ทำไมถึงใช้คำว่า "ฝูงบินผาดแผลง" ไม่ใช่ "ฝูงบินผาดโผน"

ทำไมถึงใช้คำว่า "ฝูงบินผาดแผลง" ไม่ใช่ "ฝูงบินผาดโผน"

คำถามนี้ เป็นคำถามแรกๆ ตั้งแต่ที่ผมตั้งเพจขึ้นมาแล้วถูกถามเข้ามาเลยครับ ว่าทำไมฝูงบิน Aerobatic Team ถึงถูกเรียกเป็นภาษาไทยว่า ฝูงบินผาดแผลง ไม่ใช่ ฝูงบินผาดโผน ซึ่งตอนนั้น ยอมรับครับว่าไม่มีข้อมูลส่วนนี้เลย การตอบเลยอาจจะดูไม่เข้ากับศัพท์วิชาการสักเท่าไร แต่เมื่อไม่กี่วันก่อน ลองไปค้นๆ ข้อมูลดู เลยพบกับข้อมูลอันหนึ่งที่คิดว่าน่าจะนำมาเป็นคำตอบของคำถามนี้ได้ เลยขอนำข้อมูลนี้มาแชร์กันครับ

สาเหตุที่เราเรียกฝูงบิน Aerobatic Team ว่า ฝูงบินผาดแผลง แทนที่จะใช้คำว่า ฝูงบินผาดโผน ที่น่าจะสื่อความหมายได้ดีกว่า นั่นก็เป็นเพราะว่า คำว่าฝูงบินผาดแผลง นั้น เป็นการนำคำสามคำมาผสมกัน นั่นก็คือคำว่า ฝูงบิน คำว่า ผาด และคำว่า แผลง นั่นเอง (ทำไมถึงเป็นสามคำ นั่นก็เพราะว่าถ้านำคำว่าผาดแผลงไปหาในพจนานุกรม จะได้ความหมายว่า ยิงอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่น่าเกี่ยวข้องกับการบิน) โดยคำแรก คำว่าฝูงบินนั้น คงไม่ต้องอธิบายกันครับ ส่วนคำว่า ผาด ในพจนานุกรมหมายความว่า รวดเร็ว ส่วนคำว่า แผลง หมายความว่า แตกต่างจากปกติ เมื่อนำมารวมกัน จึงได้ความหมายว่า ฝูงบินที่ทำการบินด้วยท่าทางที่ต่างจากปกติ นั่นเองครับ ส่วนถ้าเราใช้คำว่า ฝูงบินผาดโผน จะหมายถึง ฝูงบินที่ทำการบินด้วยท่าทางที่หวาดเสียวต่ออันตราย ซึ่งผู้ที่จะมาเป็นนักบินของฝูงบินผาดแผลงได้นั้น ต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงที่สุด ดังนั้น คำว่าฝูงบินผาดโผนและการบินผาดโผนจึงไม่ถูกนำมาใช้นั่นเองครับ

ปล. เวลาที่เราไปชมการแสดงของฝูงบินผาดแผลง มักจะได้ยินพิธีกรพากย์ว่า การบินแบบนี้ นักบินทุกคนสามารถทำได้ ซึ่งความจริงไม่เป็นแบบนั้นนะครับ ผู้ที่จะมาบินผาดแผลงได้นั้น จะต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี และทีหลายๆ คนเชื่อว่า นักบินผาดแผลงนั้นจะต้องบ้าระห่ำในการบิน แท้จริงแล้ว นักบินเหล่านี้ มักจะมีความละเอียดรอบคอบสูงกว่านักบินทั่วไปด้วยซ้ำ เพราะงานของพวกเขานั้น มีความเสี่ยงสูงมากครับ