วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การบาดเจ็บจากการสละอากาศยาน

การบาดเจ็บจากการสละอากาศยา

คิดว่าหลายๆ ท่านที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับอากาศยานทางทหารมาตลอด คงจะผ่านตามาบ้าง สำหรับข่าวของการสละอากาศยานแล้วได้รับการบาดเจ็บ ซึ่งอาจจะนำมาสู่คำถามที่ว่า ทำไมนักบินถึงบาดเจ็บ เป็นเพราะเก้าอี้ดีดสำหรับสละอากาศยานไม่มีความปลอดภัยใช่หรือไม่ หรือเป็นเพราะอะไรกันแน่ วันนี้ผมจะมาขอพูดเรื่องนี้ให้ฟังกันแบบคร่าวๆ ครับ

สำหรับการสละอากาศยาน หรือที่เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า "ดีดตัว" นั้น เป็นขั้นตอนที่นักบินจะปฏิบัติเมื่ออากาศยานเกิดเหตุไม่คาดคิดจนไม่สามารถทำการควบคุมต่อไปได้ จึงต้องทำการสละอากาศยาน ซึ่งการสละอากาศยานนั้นก็มีหลายแบบแตกต่างกันออกไปตามรุ่นของอากาศยานนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการปีนออกไปที่ปีกแล้วจึงสละอากาศยาน หรือ การดีดตัวออกด้วยเก้าอี้ดีด ซึ่งในกรณีนี้ ขอพูดถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการใช้เก้าอี้ดีดตัวก่อนนะครับ

สำหรับการใช้เก้าอี้ดีดในการสละอากาศยานนั้น สิ่งหนึ่งที่นักบินจะต้องตระหนักถึงก่อนที่จะทำการดีดตัวออกมาจากอากาศยานนั้นมีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ความเร็วของเครื่อง ท่าทางการบิน ระยะสูง (ถึงแม้ว่า เก้าอี้ดีดรุ่นใหม่ๆ จะมีคุณสมบัติที่สามารถดีดตัวได้ในทุกท่าทางการบินหรือสามารถดีดตัวแม้จอดอยู่ที่พื้นก็ตาม แต่การดีดตัวในขณะทำการบินระดับ ความเร็วต่ำและมีระยะสูง ก็มีความปลอดภัยสูงกว่าการดีดตัวในท่าทางอื่นๆ) รวมถึงการจัดท่าทางของตัวนักบินเอง ก่อนที่จะทำการดีดตัวก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะว่าเมื่อจรวดที่อยู่ภายในเก้าอี้ดีดตัวทำการจุดระเบิดเพื่อส่งนักบินพร้อมทั้งเก้าอี้ดีดออกจากเครื่อง นักบินจะต้องเจอกับแรงจีที่ไม่ต่ำกว่า 10 จีเป็นแน่ (เคยอ่านพบว่าในเก้าอี้ดีดบางรุ่นของรัสเซีย เมื่อดีดตัวจะเกิดแรงจีสูงถึง 20-22 จี) เพราะอย่างนั้น นักบินจึงต้องจัดตัวเองในท่าทางที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดอาการบาดเจ็บขึ้นกับร่างกายก็เป็นได้ ยกตัวอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้น เมื่อมีนักบินขับไล่ท่านหนึ่งของกองทัพอากาศสหรัฐ ทำการดีดตัวเมื่อเครื่องบินทำการบินด้วยความเร็วเหนือเสียง ส่งผลให้กระดูกร้าวทั่วร่างเนื่องจากแรงที่กระทำต่อร่างกาย จนต่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่าครึ่งปี หรือ นักบินขับไล่ที่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง เนื่องจากการจัดท่าทางที่ผิดในขณะที่ดีดตัว เป็นต้น

ซึ่งนอกจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่ทำการดีดตัวออกจากอากาศยานแล้ว การลงพื้นก็มีอันตรายไม่แพ้กัน เพราะในการลงพื้นนั้น ถ้าหากเจออุปสรรคอย่าง ทิศทางลมที่ไม่แน่นอน ลมแรง ส่งผลให้เราลงสู่พื้นเร็วจนเกินไป หรือไม่สามารถควบคุมทิศทางของร่มได้ รวมถึงท่าทางการลงพื้นที่อาจจะผิดพลาด สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบอาจจะทำให้เราได้รับบาดเจ็บได้ทั้งนั้น หรือบางครั้ง การกระโดดร่มลงน้ำก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สูญเสียนักบินฝีมือดีไปไม่น้อย เมื่อเกิดเหตุการณ์ร่มชูชีพพันลำตัวและไม่สามารถแก้ไขได้

แต่ถึงอย่างนั้น ก็คงกล่าวว่าเป็นความผิดของระบบอากาศยานไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้ว ระบบอากาศยานนั้นถูกออกแบบมาเพียงเพื่อให้นักบินสามารถทำการสละอากาศยานออกมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถควบคุมอากาศยานได้เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้น ในปัจจุบันก็ยังคงมีการพัฒนาระบบสละอากาศยานต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับผู้บังคับอากาศยานเมื่อขึ้นทำการบิน





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น