วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

วีรกรรม F-5 ในสมรภูมิช่องบก

ภาพของเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E Tiger II ฝูงบิน 403 กองบิน 4 หลังจากทำการลงฉุกเฉินที่กองบิน 21 อุบลราชธานี เนื่องจากถูกยิงด้วยจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่าแบบ SA-7 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2530 ขณะเข้าปฏิบัติภารกิจสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิดระหว่างการรบในสมรภูมิช่องบก
โดยในวันนั้น ท่าน น.ต.สุรศักดิ์ บุญเปรมปรี (ยศในขณะนั้น) ได้รับคำสั่งให้เป็นหัวหน้าหมู่ นำเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E จำนวน 2 เครื่อง เข้าปฏิบัติภารกิจโจมตีพื้นที่ฐานที่มั่นสนับสนุนอาวุธของกองกำลังทหารเวียดนาม บริเวณอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในขณะนั้นกำลังเกิดการรบระหว่างกองกำลังฝ่ายไทยกับกองกำลังต่างชาติ โดยท่านสุรศักดิ์ได้นำหมู่บินเข้าทำการดำโจมตีเป้าหมายด้วยปืนใหญ่อากาศ ซึ่งขณะทำการโจมตี ก็ได้ถูกต่อต้านจากภาคพื้นอย่างหนัก จนทำให้เครื่องของท่านซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่ถูกยิงด้วยจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่าแบบ SA-7 เข้าที่เครื่องยนต์ขวา จนทำให้ต้องขอถอนตัวออกจากภารกิจและนำเครื่องกลับไปลงได้อย่างปลอดภัย ในขณะที่เครื่องหมายเลข 2 ซึ่งมีท่าน น.ต.เจริญ บำรุงบุญ เป็นนักบิน ยังคงเข้าทำการโจมตีเป้าหมายต่อไป ซึ่งผลจากการทำภารกิจในครั้งนี้ ทำให้เป้าหมายได้รับความเสียหายอย่างหนัก คลังอาวุธและกระสุนถูกทำลาย ต่อมาพื้นที่จึงได้ถูกยึดคืนโดยกองกำลังฝ่ายไทย
ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2531 เครื่องบินขับไล่แบบ F-5E ของท่าน น.ต.สุรศักดิ์ ก็ได้ถูกยิงอีกครั้งหนึ่งในสมรภูมิร่มเกล้า ซึ่งในครั้งนี้ ท่านได้ทำการสละอากาศยานออกมาเนื่องจากเครื่องได้รับความเสียหายอย่างหนัก ก่อนจะถูกช่วยเหลือโดยกองกำลังฝ่ายไทยครับ




เครื่องบินขับไล่ F-5E หมายเลข 91686 ปัจจุบันคือเครื่องหมายเลข 21123 ฝูงบิน 211 กองบิน 21 ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

Sniper Pod อีกหนึ่งเขี้ยวเล็บใหม่ของเหยี่ยวประจัญบานแห่งกองทัพอากาศ

Sniper Pod อีกหนึ่งเขี้ยวเล็บใหม่ของเหยี่ยวประจัญบานแห่งกองทัพอากาศ

Sniper Pod หรือ AN/AAQ-33 เป็นกระเปาะชี้เป้าขั้นก้าวหน้าที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท Lockheed Martin สำหรับทดแทนกระเปาะชี้เป้ารุ่นเก่าอย่าง LANTIRN มีประสิทธิภาพสูงในการปฏิบัติการทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มีขนาดเบาและได้รับการออกแบบให้ส่วนหัวเป็นแบบรูปลิ่ม ซึ่งจะช่วยทำให้ลดการตรวจจับจากเรดาร์และมีคุณสมบัติทางอากาศพลศาสตร์ในย่านความเร็วเหนือเสียงที่ดีกว่า โดย Sniper Pod สามารถนำมาใช้ได้ทั้งในภารกิจการชี้เป้าให้กับระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์และ GPS รวมถึงภารกิจถ่ายภาพในการลาดตระเวนและตรวจการณ์ ซึ่งปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่า Sniper Pod เป็นกระเปาะชี้เป้าที่มีขีดความสามารถสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ถูกนำมาใช้กับเครื่องบินรบสมรรถนะสูงหลายๆ แบบ อาทิ F-15E, F-16, B-1B, A-10 และหลายประเทศทั่วโลกได้จัดหากระเปาะชี้เป้ารุ่นนี้เข้าประจำการ ซึ่งในส่วนของกองทัพอากาศไทย เป็นกองทัพอากาศชาติที่ 19 ที่จัดหา และจะนำ Sniper Pod มาใช้งานกับ F-16A/B eMLU ของฝูงบิน 403 กองบิน 4

วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

JHMCS เขี้ยวเล็บใหม่ของเหยี่ยวประจัญบานแห่งกองทัพอากาศ

JHMCS เขี้ยวเล็บใหม่ของเหยี่ยวประจัญบานแห่งกองทัพอากาศ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วถึงโครงการ Mid Life Update ของเครื่องบินขับไล่แบบ F-16A/B Fighting Falcon แห่งฝูงบินขับไล่ทางยุทธวิธี 403 กองบิน 4 ซึ่งเป็นโครงการที่จะทำให้ F-16 มีขีดความสามารถและมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยทำการปรับปรุงหลายๆ รายการ อาทิ การติดตั้งเรดาร์แบบ AN/APG-69(V)9, การปรับปรุงระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์, การติดตั้งระบบ Data Link รวมถึงการติดตั้งระบบ JHMCS กับหมวกบิน เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการรบให้สูงยิ่งขึ้น

JHMCS หรือ Joint Helmet Mounted Cueing System เป็นระบบที่ใช้ติดตั้งกับหมวกบิน เพื่อทำการแสดงผลต่างๆ ขึ้นบนหมวกบิน อาทิ ความเร็ว ความสูง แรงจี ฯลฯ (เรียกได้ว่าบน HUD แสดงอะไร ตัวระบบ JHMCS ก็จะนำสิ่งเหล่านั้นมาโชว์บนหมวกบิน) รวมถึงมีศูนย์เล็งสำหรับใช้จรวดนำวิถีสมัยใหม่อย่าง AIM-9X หรือ IRIS-T ซึ่งระบบนี้ จะทำให้นักบินมีความตระหนักรู้ในสถานการณ์มากขึ้นพร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการรบที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน ระบบ JHMCS นับว่าเป็นระบบหมวกบินที่ดีที่สุดแบบหนึ่งของโลก มีใช้ในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา กรีซ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอีกหลายๆ ประเทศ โดยทำการติดตั้งกับ บ.ขับไล่สมรรถนะสูง เช่น F-15, F-16, F/A-18 และ F-22

ในส่วนของกองทัพอากาศไทย จะนำระบบ JHMCS มาใช้กับเครื่องบินขับไล่แบบ F-16AM/BM ร่วมกับจรวดนำวิถีพิสัยใกล้แบบ IRIS-T ซึ่งเป็นจรวดนำวิถีที่มีสมรรถนะสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558

Blue On Blue!!! สิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

Blue On Blue!!! สิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
วันนี้ ขออนุญาตนำเสนอหนึ่งเรื่องที่ผมไม่อยากกล่าวถึง แต่ก็เป็นหนึ่งคำถามที่ถูกถามเข้ามาบ่อยๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่เนิน 1428 ในระหว่างที่บ้านเรากำลังอยู่ในช่วงกรณีพิพาทบ้านร่มเกล้าในช่วงปี 2530 นั่นก็คือเหตุการณ์ที่เครื่องบินขับไล่แบบ F-5E/F ของกองทัพอากาศ เข้าทำการโจมตีทางอากาศผิดเป้าหมายนั่นเองครับ
ย้อนกลับไปเกือบ 30 ปีที่แล้ว กองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายได้ทำการรุกล้ำพื้นที่อธิปไตยของชาติไทยเข้ามา ในบริเวณบ้านร่มเกล้า จังหวัดพิษณุโลก เพื่อหวังจะยึดครองพื้นที่ของเรา ทำให้กองทัพไทยต้องระดมกำลังพลพร้อมทั้งยุทโธปกรณ์เข้าต่อต้านอย่างหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่เนิน 1428 ที่ถูกฝ่ายตรงข้ามยึดไว้ได้ ทำให้ทั้งกองทัพบกและกองทัพอากาศจำเป็นต้องระดมโจมตีอย่างหนัก ไม่ว่าจะด้วยการรุกคืบของกำลังภาคพื้น การยิงปืนใหญ่ หรือแม้กระทั่งการทิ้งระเบิดจากอากาศยาน เพื่อหวังจะผลักดันข้าศึกออกไปจากผืนแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักยิ่ง แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดก็เกิดขึ้น เมื่อหมู่บิน F-5E/F หมู่หนึ่งจากฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 403 กองบิน 4 เข้าทำการโจมตีทางอากาศเข้าใส่เป้าหมาย ด้วยระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์แบบ GBU-10 ขนาด 2,000 ปอนด์ แต่ด้วยการต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายตรงข้าม ที่มีทั้งปืนต่อสู้อากาศยานและจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า ส่งผลให้จรวดประทับบ่าแบบ SA-7 พุ่งเข้าใส่เครื่อง F-5F ที่ทำหน้าที่ในการชี้เป้า ทำให้นักบินต้องดึงเครื่องหลบจรวดที่พุ่งเข้าหาอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้สูญเสียการชี้เป้าไปด้วย (เนื่องจากการชี้เป้าให้ระเบิดนำวิถีในสมัยนั้น ไม่ได้เป็นกระเปาะชี้เป้าที่มีความแม่นยำเหมือนในปัจจุบัน แต่เป็นเครื่องชี้เป้าแบบมือถือ สำหรับให้นักบินที่สองเป็นผู้ชี้เป้าให้กับ บ.เครื่องอื่น) ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ระเบิดขนาด 2,000 ปอนด์ที่ถูกปลดออกไปแล้ว สูญเสียการนำทางและระเบิดผิดไปจากจุดที่ควร ส่งผลให้ กองพันทหารม้าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเป้าหมายได้รับความสูญเสียอย่างหนักครับ
ซึ่งหลังจากกรณีพิพาทบ้านร่มเกล้าสงบลง ก็ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างภายในกองทัพไทย เช่นการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีความทันสมัยมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีการรบ การประสานงานระหว่างเหล่าทัพ ฯลฯ และเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ถูกนำมายกเป็นกรณีตัวอย่างในการรบยุคใหม่ของบ้านเราครับ
ขอสดุดีดวงวิญญาณผู้กล้าทุกท่านที่เสียสละเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติครับ


ภาพเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E Tiger II ฝูงบิน 102 กองบิน 1 โคราช ขณะติดตั้งระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์แบบ GBU-12 ขนาด 500 ปอนด์ ที่ตำบลติดอาวุธกลางลำตัว

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การบาดเจ็บจากการสละอากาศยาน

การบาดเจ็บจากการสละอากาศยา

คิดว่าหลายๆ ท่านที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับอากาศยานทางทหารมาตลอด คงจะผ่านตามาบ้าง สำหรับข่าวของการสละอากาศยานแล้วได้รับการบาดเจ็บ ซึ่งอาจจะนำมาสู่คำถามที่ว่า ทำไมนักบินถึงบาดเจ็บ เป็นเพราะเก้าอี้ดีดสำหรับสละอากาศยานไม่มีความปลอดภัยใช่หรือไม่ หรือเป็นเพราะอะไรกันแน่ วันนี้ผมจะมาขอพูดเรื่องนี้ให้ฟังกันแบบคร่าวๆ ครับ

สำหรับการสละอากาศยาน หรือที่เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า "ดีดตัว" นั้น เป็นขั้นตอนที่นักบินจะปฏิบัติเมื่ออากาศยานเกิดเหตุไม่คาดคิดจนไม่สามารถทำการควบคุมต่อไปได้ จึงต้องทำการสละอากาศยาน ซึ่งการสละอากาศยานนั้นก็มีหลายแบบแตกต่างกันออกไปตามรุ่นของอากาศยานนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการปีนออกไปที่ปีกแล้วจึงสละอากาศยาน หรือ การดีดตัวออกด้วยเก้าอี้ดีด ซึ่งในกรณีนี้ ขอพูดถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการใช้เก้าอี้ดีดตัวก่อนนะครับ

สำหรับการใช้เก้าอี้ดีดในการสละอากาศยานนั้น สิ่งหนึ่งที่นักบินจะต้องตระหนักถึงก่อนที่จะทำการดีดตัวออกมาจากอากาศยานนั้นมีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ความเร็วของเครื่อง ท่าทางการบิน ระยะสูง (ถึงแม้ว่า เก้าอี้ดีดรุ่นใหม่ๆ จะมีคุณสมบัติที่สามารถดีดตัวได้ในทุกท่าทางการบินหรือสามารถดีดตัวแม้จอดอยู่ที่พื้นก็ตาม แต่การดีดตัวในขณะทำการบินระดับ ความเร็วต่ำและมีระยะสูง ก็มีความปลอดภัยสูงกว่าการดีดตัวในท่าทางอื่นๆ) รวมถึงการจัดท่าทางของตัวนักบินเอง ก่อนที่จะทำการดีดตัวก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะว่าเมื่อจรวดที่อยู่ภายในเก้าอี้ดีดตัวทำการจุดระเบิดเพื่อส่งนักบินพร้อมทั้งเก้าอี้ดีดออกจากเครื่อง นักบินจะต้องเจอกับแรงจีที่ไม่ต่ำกว่า 10 จีเป็นแน่ (เคยอ่านพบว่าในเก้าอี้ดีดบางรุ่นของรัสเซีย เมื่อดีดตัวจะเกิดแรงจีสูงถึง 20-22 จี) เพราะอย่างนั้น นักบินจึงต้องจัดตัวเองในท่าทางที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดอาการบาดเจ็บขึ้นกับร่างกายก็เป็นได้ ยกตัวอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้น เมื่อมีนักบินขับไล่ท่านหนึ่งของกองทัพอากาศสหรัฐ ทำการดีดตัวเมื่อเครื่องบินทำการบินด้วยความเร็วเหนือเสียง ส่งผลให้กระดูกร้าวทั่วร่างเนื่องจากแรงที่กระทำต่อร่างกาย จนต่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่าครึ่งปี หรือ นักบินขับไล่ที่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง เนื่องจากการจัดท่าทางที่ผิดในขณะที่ดีดตัว เป็นต้น

ซึ่งนอกจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่ทำการดีดตัวออกจากอากาศยานแล้ว การลงพื้นก็มีอันตรายไม่แพ้กัน เพราะในการลงพื้นนั้น ถ้าหากเจออุปสรรคอย่าง ทิศทางลมที่ไม่แน่นอน ลมแรง ส่งผลให้เราลงสู่พื้นเร็วจนเกินไป หรือไม่สามารถควบคุมทิศทางของร่มได้ รวมถึงท่าทางการลงพื้นที่อาจจะผิดพลาด สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบอาจจะทำให้เราได้รับบาดเจ็บได้ทั้งนั้น หรือบางครั้ง การกระโดดร่มลงน้ำก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สูญเสียนักบินฝีมือดีไปไม่น้อย เมื่อเกิดเหตุการณ์ร่มชูชีพพันลำตัวและไม่สามารถแก้ไขได้

แต่ถึงอย่างนั้น ก็คงกล่าวว่าเป็นความผิดของระบบอากาศยานไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้ว ระบบอากาศยานนั้นถูกออกแบบมาเพียงเพื่อให้นักบินสามารถทำการสละอากาศยานออกมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถควบคุมอากาศยานได้เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้น ในปัจจุบันก็ยังคงมีการพัฒนาระบบสละอากาศยานต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับผู้บังคับอากาศยานเมื่อขึ้นทำการบิน





ทำไมถึงใช้คำว่า "ฝูงบินผาดแผลง" ไม่ใช่ "ฝูงบินผาดโผน"

ทำไมถึงใช้คำว่า "ฝูงบินผาดแผลง" ไม่ใช่ "ฝูงบินผาดโผน"

คำถามนี้ เป็นคำถามแรกๆ ตั้งแต่ที่ผมตั้งเพจขึ้นมาแล้วถูกถามเข้ามาเลยครับ ว่าทำไมฝูงบิน Aerobatic Team ถึงถูกเรียกเป็นภาษาไทยว่า ฝูงบินผาดแผลง ไม่ใช่ ฝูงบินผาดโผน ซึ่งตอนนั้น ยอมรับครับว่าไม่มีข้อมูลส่วนนี้เลย การตอบเลยอาจจะดูไม่เข้ากับศัพท์วิชาการสักเท่าไร แต่เมื่อไม่กี่วันก่อน ลองไปค้นๆ ข้อมูลดู เลยพบกับข้อมูลอันหนึ่งที่คิดว่าน่าจะนำมาเป็นคำตอบของคำถามนี้ได้ เลยขอนำข้อมูลนี้มาแชร์กันครับ

สาเหตุที่เราเรียกฝูงบิน Aerobatic Team ว่า ฝูงบินผาดแผลง แทนที่จะใช้คำว่า ฝูงบินผาดโผน ที่น่าจะสื่อความหมายได้ดีกว่า นั่นก็เป็นเพราะว่า คำว่าฝูงบินผาดแผลง นั้น เป็นการนำคำสามคำมาผสมกัน นั่นก็คือคำว่า ฝูงบิน คำว่า ผาด และคำว่า แผลง นั่นเอง (ทำไมถึงเป็นสามคำ นั่นก็เพราะว่าถ้านำคำว่าผาดแผลงไปหาในพจนานุกรม จะได้ความหมายว่า ยิงอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่น่าเกี่ยวข้องกับการบิน) โดยคำแรก คำว่าฝูงบินนั้น คงไม่ต้องอธิบายกันครับ ส่วนคำว่า ผาด ในพจนานุกรมหมายความว่า รวดเร็ว ส่วนคำว่า แผลง หมายความว่า แตกต่างจากปกติ เมื่อนำมารวมกัน จึงได้ความหมายว่า ฝูงบินที่ทำการบินด้วยท่าทางที่ต่างจากปกติ นั่นเองครับ ส่วนถ้าเราใช้คำว่า ฝูงบินผาดโผน จะหมายถึง ฝูงบินที่ทำการบินด้วยท่าทางที่หวาดเสียวต่ออันตราย ซึ่งผู้ที่จะมาเป็นนักบินของฝูงบินผาดแผลงได้นั้น ต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงที่สุด ดังนั้น คำว่าฝูงบินผาดโผนและการบินผาดโผนจึงไม่ถูกนำมาใช้นั่นเองครับ

ปล. เวลาที่เราไปชมการแสดงของฝูงบินผาดแผลง มักจะได้ยินพิธีกรพากย์ว่า การบินแบบนี้ นักบินทุกคนสามารถทำได้ ซึ่งความจริงไม่เป็นแบบนั้นนะครับ ผู้ที่จะมาบินผาดแผลงได้นั้น จะต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี และทีหลายๆ คนเชื่อว่า นักบินผาดแผลงนั้นจะต้องบ้าระห่ำในการบิน แท้จริงแล้ว นักบินเหล่านี้ มักจะมีความละเอียดรอบคอบสูงกว่านักบินทั่วไปด้วยซ้ำ เพราะงานของพวกเขานั้น มีความเสี่ยงสูงมากครับ





วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

Gripen กับการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล

Gripen กับการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล

เมื่อไม่กี่วันก่อน แอดมินได้มีโอกาสไปเห็นความคิดเห็นหนึ่ง เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ JAS-39C/D Gripen ของกองทัพอากาศ กับการรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของชาติ ว่าควรจะเป็นเรื่องของกองทัพเรือมากกว่ากองทัพอากาศ จากความเห็นดังกล่าว แอดมินขออธิบายคร่าวๆ ดังนี้ครับ

ก่อนอื่นต้องขอพูดก่อนว่า การรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของชาติ นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของบุคคลเพียงคนเดียว หรือเหล่าทัพเพียงเหล่าทัพเดียว ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน โดยทางกองทัพอากาศนั้นก็มีส่วนในการรักษาผลประโยชน์ทางทะเลทั้ง 2 ฝั่งมานานแล้ว ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของกองบิน 7 สุราษฎร์นับตั้งแต่สมัยที่ Gripen ยังไม่เข้าประจำการ เพราะฉะนั้นการจัดหา บ. JAS-39C/D เข้าประจำการนั้น เป็นเพียงการเพิ่มขีดสมรรถนะในการป้องกันเท่านั้นเอง

แล้วเครื่องบินรบจะสามารถป้องกันผลประโยชน์ทางทะเลได้อย่างไร?

เป็นที่ทราบกันดีครับ ว่าผืนทะเลไทยนั้นกว้างใหญ่ไพศาล แต่ก็ต้องมีขอบเขตที่จำกัด และนั่นหมายถึงว่าเราจะต้องมี "พื้นที่ทับซ้อน" กับประเทศอื่นๆ อย่างแน่นอน ซึ่งพื้นที่ทับซ้อนที่ว่า มักจะมีปัญหาเกิดขึ้น อาทิ การบุกรุกเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ฯลฯ โดยวิธีการที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำการตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังคงมีช่องว่างอยู่ นั่นคือความเร็วที่มีจำกัดของเรือผิวน้ำ ซึ่งเครื่องบินรบสามารถไปอุดช่องว่างนั้นได้ด้วยความเร็วของเครื่องบินรบที่มีมากกว่าเรือผิวน้ำเกินกว่า 10 เท่า อีกทั้ง บ. Gripen นั้นยังมีขีดความสามารถที่จะติดตั้งขีปนาวุธต่อสู้เรือผิวน้ำแบบ RBS-15F ที่มีพิสัยยิงกว่า 70 กิโลเมตร พร้อมทั้งระบบ Tactical Data Link ที่สามารถส่งข้อมูลเป้าหมายให้กับเรือผิวน้ำของกองทัพเรืออีกด้วย

เราคุ้มครองผลประโยชน์ชาติทางทะเล
เราพิทักษ์ท้องนภาแดนใต้
และเรา...กองบิน 7
พร้อมเสมอ... เพื่อพี่น้องประชาชน




เครื่องบินขับไล่แบบ JAS-39C/D Gripen สามารถติดตั้งจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำแบบ RBS-15F ได้ รวมถึงการปฏิบัติการร่วมกับ Saab-340 AEW นั้น ก็สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการรบมากขึ้นไปอีก เพราะเรดาร์ Erieye นั้น สามารถตรวจจับเป้าหมายได้ทั้งภาคพื้นและภาคอากาศ