วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558

บริพัตร เครื่องบินแบบแรกจากฝีมือคนไทย

บริพัตร หรือชื่อทางการว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบที่ 2 (บ.ท.2) เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ออกแบบโดย พ.ท. หลวงเวชยันต์รังสฤษฏ์ (มุนี มหาสันทนะ) หนึ่งในสองนายทหารช่างอากาศชาวไทยที่ถูกส่งให้ไปเรียนวิชาวิศวกรรมอากาศยานที่แผนกวิศวกรรม กองการบินทหารบกสหรัฐอเมริกา (อีกท่านหนึ่งคือ พ.ท. หลวงเนรมิตไพชยนต์ (เซี้ยง ศุษิลวรณ์)) ตามคำเชิญของ พลจัตวา วิลเลียม มิตเชลล์ รองผู้บังคับการกรมอากาศยาน สหรัฐอเมริกา

โดยเครื่องบินบริพัตรถูกออกแบบให้มี 2 ที่นั่ง ปีก 2 ชั้น โครงสร้างทำมาจากท่อภูราลูแมงและไม้ บุผ้า ส่วนเครื่องยนต์มี 2 รุ่นคือ เครื่องยนต์ลูกสูบดาวระบายความร้อนด้วยอากาศแบบ Jupiter ของอังกฤษ ให้แรงขับ 450 แรงม้า และเครื่องยนต์ลูกสูบเรียงระบายความร้อนด้วยของเหลวแบบBMW VI ขนาด 660 แรงม้า ของเยอรมนี เนื่องจากว่าเครื่องยนต์ของฝรั่งเศสที่เคยใช้อยู่ก่อนหน้ามีราคาแพงขึ้น (ก่อนหน้าที่จะผลิตบริพัตร กรมอากาศยาน สามารถสร้างเครื่องบินแบบ Breguet 15 ได้) และได้มีการทดสอบบินในวันที่ 24 มิถุนายน 2470 โดย ร.อ. จ่าง นิตินันทน์ เป็นผู้ทำการบินทดสอบ

ซึ่งภายหลังจากการนำเข้าประจำการแล้ว ในปี พ.ศ. 2472 เครื่องบินแบบ บริพัตร ก็ได้ทำหน้าที่เป็นทูตสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับอินเดีย โดยการบินไปเยือนประเทศอินเดียตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย และในปีถัดมาก็ได้ทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

หมายเหตุ ชื่อ "บริพัตร" เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ ตามพระนามของ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เพื่อเป็นเกียรติ และถือเป็นเครื่องบินแบบแรกที่ออกแบบและสร้างเองโดยคนไทย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น